ผู้ใหญ่ก็เป็น RSV ได้เหรอ? ตอบเลยว่าเป็นได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงติดเชื้อและรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่วัยอื่น ๆ โดยอาการเป็นได้ตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึง ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง และอาจรุนแรงถึงขึ้นเกิดภาวะหัวใจวายได้ ถึงแม้จะรักษาหายขาดแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน RSV ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส RSV ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
สารบัญ
ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้
เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ สามารถแพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม มักพบมากในทารกและเด็กเล็ก แต่เชื้อไวรัส RSV ไม่ได้ติดต่อเฉพาะในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ จนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล หรืออาจเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV แล้วอาการเป็นอย่างไร
- อาการทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไอ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ น้ำมูกไหล ตาแดง
- อาการทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
- อาการทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น อาทิ ความชื้น, ฝน, ฝุ่น, ควัน, ละอองเกสร เช่น หายใจแล้วมีเสียงหวีด เหนื่อย ไอเรื้อรัง แม้จะไม่มีโรคหลอดลมอักเสบมาก่อน
- อาการทางหัวใจ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดภาวะน้ำท่วมปอดจนหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน RSV
- ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 – 59 ปี ที่มีโรคประจำตัวและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ เป็นต้น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
ทำไมต้องฉีดวัคซีน RSV ในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
- วัคซีน RSV ช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV ลดโอกาสการติดเชื้อ
- ลดความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV
- วัคซีน RSV ป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส RSV เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
- ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV
วัคซีน RSV ควรฉีดเมื่อใด
วัคซีน RSV ควรฉีดก่อนเข้าสู่การแพร่ระบาดของ RSV ซึ่งมักอยู่ในช่วงฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - เดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยฉีดเพียง 1 ครั้ง เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน RSV
ก่อนฉีดให้แจ้งแพทย์ ในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังจากฉีดวัคซีนชนิดอื่น
- ผู้ที่มีไข้สูงที่เกิดจากการติดเชื้อ
- ผู้ที่มีเลือดออกง่ายหรือเกิดรอยช้ำง่าย
- ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนอื่นมาเร็ว ๆ นี้
อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีน RSV
โดยอาการเหล่านี้มีความรุนแรงเล็กน้อยและเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ได้แก่ ปวด บวม แดง คันที่ตำแหน่งฉีด อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะและปวดข้อ ทั้งนี้หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์ ได้แก่ บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ผื่นแดง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ง่าย นอกจากการล้างมือ เว้นระยะจากผู้ที่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากป้องกันแล้ว การฉีดวัคซีน RSV เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันการเกิดของโรคได้ ทั้งนี้ควรรับวัคซีนภายใต้คำแนะนำของแพทย์ สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย
นพ.นิพนธ์ จิริยะสิน
อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
ศูนย์อายุรกรรม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม