“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภัยเงียบเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว | รพ.นครธน
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น เจ็บหน้าอก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ หรือมองข้ามไป เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครียด อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้
สารบัญ
รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือ ภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจพบอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที) หรือ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที)
- เจ็บหน้าอก หายใจหอบ
- วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หมดสติ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้ และผู้ที่มีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
- การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด
- โรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
- ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
หัวใจเต้นปกติ กับ หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นอย่างไร?
หัวใจปกติ จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60 -100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100 - 120 ครั้งต่อนาที และมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50 - 60 ครั้งต่อนาที
หัวใจเต้นผิดปกติ คือ ภาวะใดที่เกิดความผิดปกติขึ้นในการนำไฟฟ้าของหัวใจโดยหัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ และมีจังหวะสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิด ปกติเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งอัตราการเต้น และจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้ เช่น เต้นๆ หยุดๆ และเต้นเร็ว ในบางรายอาจมีเต้นช้าสลับกับเต้นเร็วก็ได้
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด ?
หัวใจเต้นผิดปกติมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิด สาเหตุการเกิด อาการ วิธีการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ
- หัวใจเต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
- หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
โดยแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้
- หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หัวใจจะเต้นไม่เป็นจังหวะและเร็วผิดปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ผู้ที่มีโรคหัวใจ เป็นต้น
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที มักอยู่ในช่วง 150-250 ครั้งต่อนาที
- ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC (Premature ventricular contraction - PVC ) เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดการบีบตัวก่อนเวลาที่ควรจะเป็น
- หัวใจจะเต้นเร็วผิดปกติและไม่เป็นจังหวะ (Ventricular Fibrillation) เป็นสาเหตุทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย
- ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที
- Heart Block หัวใจจะเต้นช้าผิดปกติ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การจะรู้ว่าเรามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)
- การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)
- การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยในบางรายที่อาการยังเป็นไม่มาก คือ ยังไม่ได้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เกิดอาการของหัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด จะมีแค่ใจสั่นๆ เป็นบางเวลา แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือชากาแฟ ควบคุมความเครียดและลดการกังวล
- การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจจะต้องใช้ยาเพื่อลดอันตราการเต้นของหัวใจร่วมด้วย เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (betablocker)
- การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา จะกระทำได้โดยการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งแพทย์จะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น
- การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ในกรณีที่มีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลม หรือเหนื่อยง่าย
- การฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) ในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation
หากมีอาการที่เข่าขายหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการต่อไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ