ผ่าตัดกระเพาะอาหาร รักษาโรคอ้วน ลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
การรักษาโรคอ้วนมีหลายวิธี ทั้งการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร รวมไปถึงการใช้ยาควบคุมความหิวในรูปแบบทั้งยากินและยาฉีด แต่วิธีที่ได้ผลในระยาวมากที่สุด คือ การผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) สำหรับผู้มีปัญหาโรคอ้วน น้ำหนักเกินอย่างมาก โดยวิธีนี้ส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลง หิวน้อยลง อิ่มเร็วขึ้น การดูดซึมสารอาหารลดลง ปรับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความหิวและความอิ่ม ทำให้ลดน้ำหนักได้ที่ต้นเหตุ สามารถลดโรคร่วมจากความอ้วนและป้องกันโรคร่วมจากไขมันในร่างกายสูงได้
สารบัญ
อ้วนแค่ไหนต้องผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนจะทำการรักษาแพทย์จะใช้การตรวจร่างกาย พร้อมคัดกรองคนไข้ที่เหมาะสม โดยมีข้อบ่งชี้ ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 37.5 ขึ้นไป โดยที่ไม่มีโรคประจำตัวร่วม
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 32.5 และมีโรคร่วมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคข้อเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเสื่อม ภาวะมีบุตรยาก ภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ถึง 30 แต่มากกว่า 27.5 ขึ้นไป แต่เป็นโรคเบาหวานชนิดรุนแรง หรือ มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถควบคุมได้
ก่อนผ่าตัดต้องตรวจอะไรบ้าง
แพทย์ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือด โดยตรวจหาโรคต้องห้ามในการผ่าตัดใหญ่ การดมยาสลบหรือใส่ท่อช่วยหายใจ เช่น โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจชนิดรุนแรง หรือเป็นโรคปอดชนิดรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถผ่าตัดกระเพาะได้ รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ตรวจภาวะไขมันพอกตับ ตับแข็ง หรือนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
การผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) ทำได้กี่วิธี
การผ่าตัดจะใช้วิธีการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นเทคนิค แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว (Minimally invasive surgery)โดยการผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนักที่นิยมทำในปัจจุบันมี 3 วิธีดังนี้
1.การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก (Sleeve Gastrectomy)
การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกส่วนใหญ่ (Sleeve Gastrectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของกระเพาะอาหารให้ลดลง 80% จากความจุประมาณ 1000 ซีซี ให้เหลือความจุประมาณ 150-200 ซีซี เหลือเป็นรูปทรงคล้ายกล้วยหอม หรือ แขนเสื้อ โดยส่วนที่ตัดออกไปจะเป็นส่วนกระพุ้งกระเพาะอาหารที่ยืดขยายได้เมื่อทานอาหารเข้าไป และยังเป็นส่วนที่สร้างฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความหิว คนไข้จะกินน้อยลง อิ่มเร็วขึ้นและไม่หิวง่าย เป็นวิธีไม่ซับซ้อน มีความเสี่ยงน้อย
2. การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหาร ด้วยการเย็บกระเพาะส่วนบนให้เป็นถุงเล็กๆ แล้วเย็บเชื่อมกับลําไส้เล็ก เพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและเปลี่ยนเส้นทางเดินของอาหาร เมื่อคนไข้รับประทานอาหาร อาหารจะเข้าสู่กระเพาะส่วนถุงเล็กๆ นี้และผ่านลงลำไส้เล็กส่วนกลางที่นำมาเย็บเชื่อมต่อไว้ โดยไม่ผ่านกระเพาะอาหารส่วนล่างและลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นส่วนที่เกิดการดูดซึมสารอาหารได้มาก วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าวิธีอื่น
3. การผ่าตัดแบบตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออกร่วมกับการทำบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass)
เป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลงแบบเดียวกับการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกส่วนใหญ่ (Sleeve Gastrectomy) จากนั้นจะทำการตัดต่อลำไส้เล็กเพื่อสร้างเส้นทางเดินของอาหารใหม่ โดยให้อาหารออกจากกระเพาะแล้วเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนกลางโดยตรง ไม่ผ่านลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นส่วนที่มีการดูดซึมอาหารมากที่สุด วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนปานกลาง
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดกระเพาะ
คนไข้จะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน หลังจากกลับไปพักที่บ้านสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ แต่ งดการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาหักโหมหนัก ประมาณ 14-30 วัน เพื่อลดการกระทบกระเทือนของแผลผ่าตัด
ด้านการรับประทานอาหารนั้น หลังจากการผ่าตัดสามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ให้เลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเพียงอย่างเดียว และควรแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 4-5 มื้อต่อวัน และลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง ช่วง 1-3 วันแรกอาจรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น น้ำหวานที่ไม่ใส่น้ำตาล นม ปลานึ่ง อกไก่ต้ม เต้าหู้ เป็นต้น
ผลลัพธ์ของการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ผลลัพธ์ของการลดลงของน้ำหนักหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล โดย 1-2 ปี เป็นช่วงที่น้ำหนักลดได้มากที่สุด ประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด หลังจากนี้น้ำหนักอาจจะลดลงได้อีก แต่จะน้อยลง ทั้งนี้การที่น้ำหนักจะคงที่ขึ้นอยู่กับการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับผู้ที่มีปัญหาการลดน้ำหนัก โรคอ้วน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้ามารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง หรือ ส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างนี้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ