อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ที่ผู้ดูแลและลูกหลานควรระวัง

ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ที่ผู้ดูแลและลูกหลานควรระวัง

ด้วยความเสื่อมของร่างกายตามกาลเวลาของผู้สูงอายุ จึงมักทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะเกิดการบาดเจ็บ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น กระดูกข้อมือหัก กระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก เลือดคั่งในสมอง นอกจากการบาดเจ็บแล้วยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยหกล้มไปแล้ว จะยิ่งกลัวมากขึ้นจนกังวลและขาดความมั่นใจที่จะเดิน จนเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้


สาเหตุของอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้

  1. สาเหตุมาจากสุขภาพร่างกาย และความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ เคลื่อนไหวลำบาก มีการรับรู้ที่ช้า โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น เช่น โรคหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน
  2. สาเหตุจากการใช้ยาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือมีประวัติการใช้ยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป
  3. สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นบ้าน พื้นบันได พื้นห้องน้ำลื่นหรือมีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างไม่เพียงพอ บันไดไม่มีราวจับ ขั้นบันไดที่สูงชันหรือแคบ รองเท้าของผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถยึดเกาะพื้นได้ดี เป็นต้น
  4. สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
  5. สาเหตุจากอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าที่ใส่ หลวม ยาวรุ่มร่าม มีเชือกยาวไป ไม้เท้าช่วยเดินไม่มียางกันลื่น หรือ รถเข็นที่ไม่มีที่ห้ามล้อ เป็นต้น

อุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย จนเกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้ มีดังนี้

  • การลื่นหกล้ม เกิดจากการสูญเสียการทรงตัว เนื่องจากมีระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ ลื่นล้มตกบันได เป็นต้น
  • การพลัดตกหกล้ม ผู้สูงอายุมักเดินช้า ตามองไม่ชัด การได้ยินเสียงและความจำไม่ดี รวมทั้งมักมีอาการเวียนศีรษะจึงพลัดตกหกล้มได้ง่าย มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • อุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื่องจากประสาทสัมผัสความรู้สึกเสื่อมลง
  • การสำลักอาหาร เนื่องจากการทำงานที่ไม่ประสานกันของรอยต่อระหว่าง กล้ามเนื้อลายกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดอาหาร การหดรัดตัวของหลอดอาหารเป็นวง ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากหรือสำลักได้บ่อย ทำให้น้ำ และอาหารติดค้างในหลอดลม
  • อุบัติเหตุอื่นๆ เช่น การรับประทานยาเกินขนาด อุบัติเหตุบนท้องถนน

รักษาตัว ไม่ประมาท ป้องกันอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

แม้ว่าปัญหาอุบัติเหตุในผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นได้บ่อย แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือเสี่ยงที่จะเกิดน้อยลงได้ ดังนี้

  1. ฝึกการเดิน การทรงตัว และออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ เช่น ท่ายืนเขย่งปลายเท้าสลับยืนบนส้นเท้า ทำสลับกัน 10 ครั้ง ท่ายืนงอเข่า ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง และท่านั่งเหยียดขา ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง เป็นต้น
  2. ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง
  3. หากการเดินหรือทรงตัวไม่มั่นคง ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยเดิน เป็นต้น
  4. สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าที่มีขนาดพอดี รองเท้าควรเป็นรองเท้าส้นเตี้ย ขอบมน มีหน้ากว้าง และเป็นแบบหุ้มส้น พื้นรองเท้าควรมีดอกยาง ไม่ลื่น
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
  6. คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล หรือการตอบสนองได้ช้าลงหรือไม่
  7. ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น เช็คความผิดปกติของการมองเห็น ความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เป็นต้น รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อขอรับคำแนะนำ เกี่ยวกับ การใช้ยา ความผิดปกติในการมองเห็น การเดิน การทรงตัวและการเคลื่อนไหว
  8. หมั่นตรวจอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยเดินให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น ปลายไม้เท้ามียางหุ้มกันลื่น เก้าอี้มีล้อ ตัวห้ามล้อต้องมีสภาพพร้อมใช้งาน เป็นต้น
อุบัติเหตุในผู้สูงอายุเป็นปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงจากความพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องพึ่งพาผู้อื่น และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ดังนั้นหากสามารถป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ จะก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในผู้สูงอายุ





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย