“เบื่ออาหาร” ปัญหายอดฮิตของผู้สูงอายุ
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ค่อยอร่อย ทานน้อย อาหารที่เคยชอบทาน กลับบ่นว่าไม่อร่อย หรือไม่อยากทาน เป็นปัญหายอดฮิตสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงวัยอยู่ภายในบ้าน ทำให้ลูก หลาน กลุ้มใจและเป็นกังวลมาก เพราะถ้าเมื่อคนแก่เบื่ออาหารไม่ยอมทานข้าว ร่างกายก็จะอ่อนแรง เพลียและเหนื่อยง่าย และอาจมีผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
ด้วยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง จึงมีผลทำให้การทานอาหารลดลง เช่น เรื่องกล้ามเนื้อ หรือการเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพลดลง สุขภาพฟันและเหงือกไม่แข็งแรง มีอาการของฟันบิ่น หัก ฟันผุ เหงือกร่น ฟันปลอมหลวม เกิดความเจ็บปวดเมื่อเคี้ยวก็จะเลี่ยงการทานอาหาร ขณะที่บางคนมีภาวะน้ำลายแห้ง ทำให้เวลาเคี้ยวอาหารจะฝืดๆ คอ เพราะความชื้นในปากน้อย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก และอาจมีอาการสำลักอาหารและน้ำบ่อย ๆ จนเบื่อที่จะทานอาหารให้เกิดอาการดังกล่าวอีก ต่อมรับรสทำงานได้ไม่ดี ทำให้ทานอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม แม้ว่าอาหารนั้นจะเคยเป็นของที่ชอบแค่ไหน
บางรายมีปัญหาด้านระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารน้อยลง การบีบและคลายตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานไม่ปกติ ย่อยอาหารได้ไม่ดี ย่อยยาก ทำให้มีภาวะท้องผูก ส่งผลให้ผู้สูงอายุทานอาหารลดลง เพราะรู้สึกแน่นท้อง อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และผลข้างเคียงของยาบางชนิดมีส่วนทำให้ทำให้เบื่ออาหารได้เช่นกัน เช่น ยาบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร เช่น ยาความดัน เบาหวาน ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกเบื่ออาหาร หรือยาที่รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น
ขณะที่ปัญหาทางด้านจิตใจ ความเครียด อาการซึมเศร้า หรือเกิดจากอาการน้อยใจ จากการไม่ได้รับความสนใจจากคนในครอบครัว ต้องทานอาหารคนเดียว เป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร และทานอาหารได้น้อยลง
เมื่อผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ส่งผลเสียอย่างไร
ภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุอาจนำไปสู่โรคที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น การขาดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักลดกล้ามเนื้อแขนขาลีบ จนทรงตัวได้ไม่ดี เกิดการหกล้มทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เกิดอาการท้องผูกเนื่องจากทานผักผลไม้ไม่ได้ มีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า และป่วยง่าย เมื่อขาดสารอาหารหนักขึ้น จะเกิดโรคขาดวิตามินตามมา โรคกระดูกพรุน หรือเลือดออกง่ายผิดปกติ ในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยนั้น อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจทำให้เกิดอันตรายได้
แก้ปัญหาผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุมักเกิดจากหลายปัจจัยพร้อมๆ กัน จึงต้องพยายามวิเคราะห์ทั้งสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุว่า สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะมากที่สุด แม้ว่าภาวะร่างกายที่เสื่อมสภาพนั้นอาจแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถแก้ไขในด้านของการควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม ถ้าหากมีการควบคุมโรคได้ดี จะทำให้ทานยาลดลง สิ่งนี้จะทำให้ภาวะเบื่ออาหารที่เป็นผลข้างเคียงจากยาลดลงด้วย ทั้งนี้ยังสามารถแก้ไขการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุได้ ดังนี้
- ระบบขับถ่าย ควรมีการขับถ่ายเป็นเวลา ที่ทำให้ท้องไม่ผูก เมื่อท้องโล่งก็สามารถทานอาหารเข้าไปใหม่ได้
- ปรับเมนูอาหารให้ไม่จำเจ ปรับเปลี่ยนรสชาติในแบบที่ผู้สูงอายุชอบ ควรจัดอาหารให้ผู้สูงอายุให้ครบ 5 หมู่ และมีสารอาหารที่ครบถ้วน มีความหลากหลาย ปรุงต้ม ผัด แกง ทอด แต่อาหารไม่ควรมีความมันจนเกินไป หมั่นสังเกต และสอบถามว่าอยากทานอะไรเป็นพิเศษ รวมทั้งอาหารที่ทานต้องมีความอ่อนและนุ่ม เช่น เต้าหู้นึ่ง ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ปลานึ่ง แก้วมังกร มะละกอสุก เป็นต้น เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้เคี้ยวได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีฟันที่ไม่แข็งแรง
- พาไปทานอาหารนอกบ้านในบางโอกาส หากผู้สูงอายุต้องนั่งทานอาหารคนเดียวอาจจะเบื่อ ครอบครัวจึงต้องมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือพาผู้สูงอายุออกไปทานอาหารนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่อาจทานครั้งละมากๆ ไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนมาทานให้บ่อยขึ้นได้
- ดูแลสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ
ครอบครัวไหนที่มีปัญหาผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ขั้นตอนแรกควรค้นหาต้นตอสาเหตุก่อนว่ามาจากเรื่องใด เช่น จากยาที่รักษาโรคประจำตัวซึ่งทานอยู่เป็นประจำ หรือเกิดจากสิ่งรอบข้าง แล้วแก้ปัญหาไปที่ละจุด หากแก้แล้วอาการเบื่ออาหารยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน อย่างไรก็ตามการที่ครอบครัวคอยดูแลเอาใจใส่ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้สูงอายุเป็น ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธีและเห็นผล
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ