“เอคโคหัวใจ” (Echocardiogram) ... ทำไมต้องตรวจ?
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
คนไข้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ และได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าให้ตรวจ “เอคโคหัวใจ” คงสงสัยว่าการตรวจที่ว่านี้เป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องตรวจ ตรวจแล้วจะมีอาการเจ็บหรือไม่ อย่างไร ลองไปทำความรู้จักการการตรวจเอคโคให้มากขึ้นกันดีกว่า
“เอคโคหัวใจ” (Echocardiogram) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอคโค” (Echo) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ
การตรวจที่ว่านี้ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้หลักการเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ทางสูตินรีเวช กล่าวคือ แพทย์จะใช้หัวอัลตราซาวด์ใส่เจล และถูบริเวณหน้าอกและใต้ราวนม (เป็นการตรวจแบบไม่ต้องเจ็บตัว ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย) เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านอวัยวะต่างๆ จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ที่แตกต่างกันระหว่างน้ำและเนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพ
ดังนั้นภาพที่เห็นคือ ภาพหัวใจของผู้ป่วย โดยจะชี้ให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้
- ขนาดของหัวใจแต่ละห้อง หรือผนังกล้ามเนื้อของหัวใจอาจมีการโตขึ้น ซึ่งเกิดจากลิ้นหัวใจที่ถูกทำลาย ความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่นๆ
- ลิ้นหัวใจ การตรวจจะแสดงว่าลิ้นหัวใจมีรูปร่างปกติหรือไม่ เปิดและปิดเหมาะสมหรือไม่ หรือว่ามีการรั่วหรือเปล่า
- อันตรายที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดหัวใจ หรือโรคอื่นๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายได้
- ความผิดปกติของหัวใจที่เกิดขึ้นภายในห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดจากหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ที่ผิดปกติ และความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดได้ทั้งหมด
- ความสามารถของหัวใจในการสูบฉีดเลือด เมื่อหัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดออกไปได้ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดหัวใจวายตามมาได้
- เปอร์เซนต์ของเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากห้องหัวใจเปรียบเทียบกับปริมาณเลือดในหัวใจห้องล่างในแต่ละครั้ง หรือที่เรียกว่า Ejection fraction และปริมาณเลือดที่ร่างกายสูบฉีดออกไปภายใน 1 นาที พูดง่ายๆ ว่าลิ่มเลือด เนื้องอก และก้อนการติดเชื้อก็สามารถมองเห็นได้จากการตรวจนี้นั่นเอง
ดังนั้น การตรวจเอคโคจึงมีประโยชน์คือ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยวินิจฉัยโรคทางหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งส่วนมากมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงาน หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ และโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ
เมื่อทราบกันแล้วว่าการตรวจเอคโคมีประโยชน์อย่างไร บางคนอาจสงสัยอีกว่า แล้วผู้ป่วยที่มีอาการแบบใด แพทย์จึงจะสั่งตรวจเอคโค? แม้ว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจเอคโคนี้ จะมีความปลอดภัยและไม่เจ็บปวด แต่ในการสั่งตรวจเพื่อวินิจฉัย แพทย์จะสั่งตรวจในผู้ป่วยที่มีลักษณะเข้าข่ายดังต่อไปนี้
- เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ
- เมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ แต่มีเสียงหัวใจผิดปกติ และแพทย์สงสัยว่าเสียงที่ผิดปกตินี้อาจเกิดจากความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ
- เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก และให้การรักษาอย่างอื่นแล้วไม่ดีขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ