ไขข้อข้องใจ “ไตใหม่” จากการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อยู่ได้นานแค่ไหน

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการรับไตจากผู้อื่น ซึ่งแหล่งที่มาของไตแบ่งออกเป็นจาก ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัจจุบันการปลูกถ่ายไตนั้นถือเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด เนื่องจากการผ่าตัดมีอัตราการประสบความสำเร็จสูง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคไตหลายคนคงสงสัยว่าหากปลูกถ่ายไตแล้ว ไตใหม่จะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน เรามีคำตอบและคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝาก


ไตใหม่ที่ใช้ในการปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง

โดยแหล่งที่มาของไตนั้น แบ่งออกเป็นจาก ผู้บริจาคที่เสียชีวิต หรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้

  1. Living Donor คือ ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งในทางกฎหมายผู้บริจาคจะต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นการบริจาคไตสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะสามารถทำเรื่องขอบริจาคได้ แต่หากในกรณีที่ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี
  2. Deceased Donor คือ ไตจากผู้เสียชีวิต มาจากผู้บริจาคสมองตาย โดยในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานเป็นปกติดีอยู่ ทั้งนี้การบริจาคไตต้องเกิดจากความประสงค์ของเจ้าของไต หรือได้รับการยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่จะได้รับการปลูกถ่ายไต เช่น ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เข้ารับการฟอกเลือดหรือล้างไตตามแผนการรักษาปกติ รวมถึงวางแผนการเดินทางมายังโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับการติดต่อสำหรับการผ่าตัดด่วน


ไตใหม่อยู่ได้นานแค่ไหน?

ไตใหม่อยู่ได้นานแค่ไหน? อยู่ได้นานกี่ปี? ถือว่าเป็นข้อสงสัยของผู้ป่วยโรคไตหลายๆ ท่านที่อย่างทราบคำตอบ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะระบุเป็นตัวเลขว่าผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้นานกี่ปีนั้น ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากมีหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ความเข้ากันได้ของไตที่นำมาเปลี่ยน การใช้งาน การดูแลรักษา และโรคร่วมที่เป็นอยู่ แต่สามารถประเมินคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ถ้าเป็นผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ และได้ไตมาจากญาติสายตรง ก็มีโอกาสที่จะอยู่ได้นานกว่า ผู้ที่ได้ไตบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้บริจาคสมองตาย โดยทั่วไปแล้วจะสามารถใช้งานได้ยาวนานมากกว่า 15-20 ปีขึ้นไป
  • ไตจากผู้เสียชีวิต แต่หากเป็นไตที่ได้ไตบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้บริจาคสมองตาย โดยทั่วไปแล้วจะมีอายุใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของไตของผู้บริจาคสมองตาย
  • อายุของผู้บริจาคไต โดยทั่วไปแล้ว ถ้าได้รับไตจากผู้ป่วยที่มีอายุมาก จำนวนเนื้อไตที่ใช้งานได้จะน้อยกว่าเนื้อไตจากผู้ที่มีอายุน้อยกว่า แต่ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการปลูกถ่ายไต แต่อาจจะมีผลต่ออายุของไตใหม่ที่ได้รับเข้าไป
  • การดูแลรักษา หากผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายไตมาแล้ว มีการใช้งาน และการดูแลรักษาไตดีๆ นัดติดตามอย่างต่อเนื่อง การใช้งานของไตก็จะอยู่ได้ยาวนานยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อปลูกถ่ายไตแล้วผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่ต้องพบแพทย์เป็นประจำเพราะผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงหลายอย่างเพิ่มขึ้นจากการรับประทานยากดภูมิ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง การติดเชื้อ และการเกิดมะเร็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของไตที่ได้รับ และการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็จะทำให้ตัวผู้ป่วยเองนั้นมีอายุที่ยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่ต่างจากคนทั่วไป





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย