ปวดหลังส่วนล่าง เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อายุที่มากขึ้น การเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อมได้ อาการปวดหลังส่วนล่างอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง โดยการรักษานั้นไม่ได้น่ากลัว ทางศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธนจะพิจารณาแนวทางการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมแพทย์เฉพาะทางในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง
สารบัญ
- อาการปวดหลังส่วนล่างมีกี่ชนิด?
- สาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่าง
- อาการปวดหลังส่วนล่าง
- โรคที่พบบ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง
- การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่าง
- การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง
- อาการปวดหลังส่วนล่างแบบไหนที่ควรพบแพทย์?
- ปวดหลังส่วนล่าง รักษาได้ รีบเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
อาการปวดหลังส่วนล่างมีกี่ชนิด?


อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) หมายถึง อาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ในตำแหน่งตั้งแต่หลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น โดยบางกรณีจะมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ซึ่งปัญหาสำคัญของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดและการไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ โดยอาการปวดหลังช่วงล่าง เกิดได้ทั้งจากการเสื่อมและโรคของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยการเสื่อมเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดปุ่มกระดูกงอกเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังที่เสื่อมถอยส่งผลให้เกิดการเบียดกดประสาทไขสันหลังช่วงล่าง ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของเซลล์ต่าง ๆ เกิดได้ง่ายเมื่อมีอายุมากขึ้น
สาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังส่วนล่างส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคกระดูกสันหลังซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- โรคกล้ามเนื้อหลังและเอ็น
- โรคความเสื่อมของข้อติดกระดูกสันหลัง
- โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน
- โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ
- โรคกระดูกสันหลังผิดรูป หรือ กระดูกสันหลังคด
- โรคติดเชื้อกระดูกสันหลัง
- โรคการอักเสบกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่ติดเชื้อ
- โรคมะเร็งของกระดูกสันหลัง และ มะเร็งแพร่กระจาย มาที่กระดูกสันหลัง
- โรคที่เกิดจากอุบัติเหตุของกระดูกสันหลัง
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดท้องน้อย ปวดหลังช่วงเอว อาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะภายใน และอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงสาเหตุทางจิตใจ ดังนั้น หากตรวจวินิจฉัยแล้วไม่พบสาเหตุจากโรคเกี่ยวกับหลัง อาจจะต้องพิจารณาการตรวจวินิจฉัยสาเหตุอื่น ๆ แบบแยกโรค
อาการปวดหลังส่วนล่าง
- ปวดหลังบนกระดูกสันหลังช่วงล่าง
- ปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจรุนแรงมากจนไม่สามารถยืนหรือเคลื่อนไหวได้ชั่วคราว
- อาการปวดอาจมากขึ้นในบางตำแหน่ง เช่น เมื่องอหรือยืดตัว และจะปวดน้อยลงเมื่อนั่งหรือนอนราบ
- มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดหลังทั้งแผ่นหลังมักเป็นอาการปวดเมื่อยต่อเนื่อง ซึ่งอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณก้นหรือขาด้านหลัง มักเกิดเพียงด้านเดียวเคลื่อนไหวหลังไม่ได้ ก้มตัวไม่ได้ ยืนตรงไม่ได้เพราะเจ็บ
- อาการปวดหลังเรื้อรังอื่นๆ ได้แก่ ปวดเมื่อยตึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพยายามขยับตัวหลังจากอยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานาน เช่น หลังจากนั่งหรือนอน การเคลื่อนไหวที่จำกัดอาจรวมถึงการยืนตัวตรงไม่ได้ หรือ ปวดหลังส่วนล่าง ก้มไม่ได้
อาการปวดหลังส่วนล่างมีกี่ระยะ?
อาการปวดหลังส่วนล่างสามารถแบ่งตามระยะ ได้ดังนี้
- อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
- อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
- อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน

โรคที่พบบ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง


อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน การยกของหนักปวดหลัง หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังล่างอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ความเมื่อยล้าทั่วไป แต่ยังอาจเป็นสัญญาณของโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่
โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute back strain) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ อาการที่พบจะปวดหลังแต่ไม่ร้าวไปที่ขา สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อหลังแข็งและเกร็งทำให้แนวแอ่นตัวของหลังหายไป เมื่อกดกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลังจะรู้สึกเจ็บ ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation) พบในผู้ป่วยอายุน้อยไม่เกิน 50 ปี มักเป็นแบบเฉียบพลัน ภายหลังการยกของหนักหรือหมุนตัวผิด ทำให้มีหมอนรองกระดูกแตกออกไปทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา อาจมาพร้อมอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาท L4, L5, S1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อย
โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ
โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis) ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการน่องชาหรือไม่มีแรงเมื่อมีการเดินไกล แต่เมื่อนั่งพักเพียงไม่กี่นาทีอาการก็จะดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้อีก โดยอาการค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปี
อ่านข้อมูลโรคเกี่ยวกับกระดูกที่ควรระวัง ! : กระดูกคอทับเส้นประสาท
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่าง
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว สามารถบอกขอบเขตของโรคได้ เช่น สงสัยว่ามีภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคต่อไปได้ ให้ภาพคมชัด ละเอียด แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
โดยแนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยมีวิธีการรักษาหลัก 2 แนวทาง ได้แก่ การรักษาแบบไม่ผ่าตัดในกรณีที่ไม่มีภาวะกดทับเส้นประสาท และ การรักษาแบบผ่าตัดในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของเส้นประสาทถูกกดทับได้แก่ กล้ามเนื้อขาลีบ ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป เป็นต้น
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง
การรักษาแบบประคับประคอง
อาการปวดหลังล่าง แก้ยังไง ในกรณีที่เกิดจากพฤติกรรมการทำงาน การใช้ชีวิต ให้ผู้ป่วยนอนพักประมาณ 2-3 วัน เมื่อผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นควรให้มีการขยับตัว ลุกนั่ง และยืน โดยหลีกเลี่ยงการก้มของหลัง โดยช่วงนี้อาจให้ผู้ป่วยใช้ผ้าคาดเอวในการช่วยพยุงหลัง หรือเข้ารับการทำกายภาพบำบัด สามารถลดอาการปวดเฉียบพลัน
ซึ่งมีหัตถการทางกายภาพหลายอย่างในการลดปวด เช่น ultrasound, short wave, TENS, electro-acupuncture, traction, and manipulation เป็นต้น พร้อมทั้งการให้ความรู้กับผู้ป่วยเกี่ยวกับการเดินการยืน ท่าทางในการก้มลงยกของ ซึ่งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำของอาการปวดหลังล่างได้
การรักษาด้วยยา
การใช้ยากลุ่มแก้อาการปวดและยากลุ่มต้านการอักเสบ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง โดยแพทย์จะเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย เป็นต้น
การรักษาด้วยการผ่าตัดหลัง
โดยร้อยละ 80-90 สามารถรักษาให้หายด้วยการรักษาแบบประคับประคอง แต่ถ้าไม่หาย หรือ ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของเส้นประสาทถูกกดทับจากภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้แก่ กล้ามเนื้อขาลีบ ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บน้อย โดยไม่ต้องกังวลถึงอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยเทคนิคการระงับปวดที่ทางโรงพยาบาลนครธนดูแล ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดหลังได้เร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว
อาการปวดหลังส่วนล่างแบบไหนที่ควรพบแพทย์?
หากมีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง ปวดรุนแรง มีปวดร้าวไปที่ขาหรือเท้า มีอาการแสบร้อนหรือยืนหรือเดินไม่ได้ อาการเหล่านี้ คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังส่วนล่างธรรมดา เพราะอาการปวดหลังนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
ปวดหลังส่วนล่าง รักษาได้ รีบเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
อาการปวดหลังส่วนล่างไม่ได้เป็นเพียงอาการที่เกิดจากความเมื่อยล้าธรรมดา หรือหลังยอกปกติ แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาท หากละเลยหรือปล่อยให้อาการเรื้อรัง อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ดังนั้นการเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาที่มีความชำนาญด้านกระดูกสันหลัง พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง