3 โรคมะเร็งยอดฮิต พบบ่อยสุดในผู้ชาย
ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง
ด้วยไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมการรับประทานของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ของมัน ของทอด และอาหารแช่แข็งต่าง ๆ นั้น ล้วนทำให้เรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งกันเพิ่มขึ้นทั้งเพศหญิงและชาย แต่เราทราบหรือไม่ว่า โรคมะเร็งยอดฮิตที่พบได้บ่อยที่สุดในเพศชาย 3 อันดับแรกคือมะเร็งชนิดใด? แล้วอาการเป็นอย่างไร จะมีวิธีการป้องกันและรักษามะเร็งเหล่านี้หรือไม่?ไปอ่านกันได้เลย! (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2564)
1.มะเร็งตับ
“มะเร็งตับ”หนึ่งในมะเร็งยอดฮิตที่พบได้บ่อยในคนไทย และพบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในชายไทย โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรง มีการเจริญเติบโตของโรคที่รวดเร็ว และที่สำคัญคือรักษายาก
มะเร็งตับ เกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง?
- เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี - ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติ
- ตับแข็ง - ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งตับมักจะมีอาการตับแข็งร่วมด้วย
- สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) - สารนี้ก่อให้เกิดเชื้อรา อยู่ในอาหารประเภทถั่วลิสงแห้ง พริกแห้ง เต้าหู้ยี้ ฯลฯ หากร่างกายได้รับมากเกินไปอาจจะเกิดการตกค้างได้
- สารไนโตรซามีน พบได้ในสารกันบูด อาหารที่ใส่ดินประสิว หรือพบผักที่มีสารตกค้าง ซึ่งหากร่างกายได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือบริโภคในปริมาณที่เยอะจนเกินไป
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และไขมันพอกตับ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่โรคมะเร็งตับ
เนื่องจากโรคมะเร็งตับในระยะเริ่มแรก อาจจะยังแสดงอาการไม่ค่อยชัดเจนนัก การสังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคจึงอาจทำได้ยาก ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่มักพบ ได้แก่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ เจ็บชายโครงขวา ซึ่งอาการจะแสดงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของโรค และอาจมีอาการมากขึ้นตามการการเปลี่ยนอิริยาบถ หายใจ ไอ หรือคลำก้อนได้ที่ชายโครงขวา ในช่วงท้ายอาจมีไข้เรื้อรัง ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือบางรายมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นตับแข็ง เช่น ขาบวม ท้องบวม เส้นเลือดโป่งพอง
การรักษามะเร็งตับ
การรักษามะเร็งตับ สามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก การฉีดยาเข้าก้อนมะเร็งโดยตรงในมะเร็งระยะเริ่มแรก การฉีดยาเคมี หรือสารอุดตันเข้าเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ซึ่งการใช้ยาเคมีส่วนใหญ่รักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
ดังนั้นผู้ที่เริ่มเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีอาการตามข้างต้นที่กล่าวมา รวมถึงเป็นไขมันพอกตับ ตับแข็ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน แต่ทางที่ดีควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งตรวจคัดกรองมะเร็งตับ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจะดีที่สุด
2.มะเร็งลำไส้ใหญ่
“มะเร็งลำไส้ใหญ่” “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ถือเป็นมะเร็งยอดฮิตอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย โดยพบมากสุดเป็นลำดับ 2 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ ซึ่งส่วนมากมักพบในวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
โดยสาเหตุปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
- สิ่งแวดล้อม
- อาหาร: หากบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงจนเป็นโรคอ้วน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนปกติถึง 1.2 เท่า
- พันธุกรรม: หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไปก็มีโอกาสเสี่ยงด้วยเช่นกัน
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ๆ อาจจะไม่มีอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คล้ายโรคกระเพาะ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะการขับถ่ายอาจเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากลำไส้อุดตัน เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกปนเลือด มีเลือดออกในอุจจาระเป็นเวลานาน ทำให้มีภาวะซีดได้ อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายสีของเลือดหมู อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด เป็นต้น
ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจเลือดในอุจจาระและการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งหากพบว่ามีก้อนเนื้องอก แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้องอกนั้นมาวินิจฉัยว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่ หากพบว่าเป็นมะเร็งจริง ก็จะต้องตรวจอีกว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระยะใด เพื่อทำการวางแผนการรักษาดูแลที่เหมาะสมต่อไป
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดนำส่วนที่เป็นมะเร็งออก และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถป้องกันการกลับมาของโรคได้ดีขึ้น แม้แต่ผู้ป่วยในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่โรคแพร่กระจายแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าไม่สามารถรักษาหรือทำอะไรได้แต่หากผู้ป่วยดูแลร่างกายให้แข็งแรง มีกำลังใจที่ดี และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ก็จะช่วยทุเลาความรุนแรงของโรค หรือช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้
วิธีการป้องกันจึงควรรับประทานอาหารที่มีเส้นกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง งดสูบบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยตรวจคัดกรองโรคด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
3.มะเร็งปอด
“มะเร็งปอด”อีกหนึ่งมะเร็งยอดฮิตและสาเหตุของการเสียชีวิตลำต้น ๆ ของคนไทย ทั้งในเพศชายและเพศหญิงทั้งยังเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของผู้ชาย รองจากมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากมักตรวจไม่ค่อยพบในระยะแรก ๆ
มะเร็งปอด เกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง?
- การสูบบุหรี่ โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบเฉลี่ยแล้ว 16 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอดทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งความเสี่ยงนี้จะยิ่งสูงขึ้นไปอีกหากผู้ที่สูบบุหรี่สูบในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติด้วยเช่นกัน
- พันธุกรรม อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- มลภาวะอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 สามารถเพิ่มการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า
- การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ได้รับสารพิษและมลภาวะจากการทำงานสิ่งแวดล้อม งานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น สารแอสเบสตอส หรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และฉนวนกันความร้อน รังสีเรดอนที่ปนเปื้อนในดินน้ำและสิ่งแวดล้อม สารหนู นิกเกิล โครเมียม และ สารโลหะอื่นๆ
- การใช้ยาเสพติดบางประเภท เช่น กัญชาและโคเคน หรือภาวะขาดวิตามินเอ
ทั้งนี้ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจนไปกดหลอดลมหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นจึงจะแสดงอาการ ได้แก่ ไอ มีเลือดออก เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หน้าบวม แขนบวม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ Low-Dose CT (Low-Dose Computerized Tomography) ตรวจชิ้นเนื้อจากปอดและการตรวจเสมหะ
การรักษามะเร็งปอด
ส่วนการรักษามะเร็งปอดมีทั้งการผ่าตัด แต่จะทำในกรณีที่ขนาดก้อนเนื้อไม่ใหญ่มาก การฉายแสงร่วมกับการให้เคมีบำบัด เพื่อยับยั้ง ชะลอการลุกลาม และการประคับประคองตามอาการ เนื่องจากมะเร็งปอดเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้ว โอกาสในการรักษาให้หายขาดนั้นค่อนข้างน้อย การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่สูบบุหรี่ หรือหากสูบบุหรี่อยู่ก็ควรลด ละ เลิก ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มากเลยทีเดียว
ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็ง ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากเป็นทั้งนั้น เพราะกว่าที่เราจะรู้ตัวว่าเป็นโรคเหล่านี้หรือมีการแสดงอาการ ผู้ป่วยบางคนก็สุขภาพทรุดไปแล้ว แต่จะดีกว่าไหมถ้ารู้จักเตรียมตัวให้พร้อมเสียตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างละเอียด เพื่อให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง และในผู้ที่ตรวจพบว่าเป็น การตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงทีในขณะที่โรคยังไม่ลุกลาม จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้มีประสิทธิภาพและได้ผลมากยิ่งขึ้น เพื่อที่คุณจะได้มีชีวิตอยู่กับคนที่คุณรักไปได้ตราบนานเท่านาน
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง