มะเร็งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรม และภายนอกร่างกาย เช่น สิ่งแวดล้อม สารเคมี อาหารต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบ และเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยทั่วไปโรคมะเร็งนั้นมักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่จำเพาะ ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดขึ้นที่อวัยวะใด ถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งมักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกตินานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ เพราะหากสามารถทำการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้
1. มะเร็งคืออะไร
โรคมะเร็ง คือ เซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ เราจะสังเกตได้จากการที่มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติที่สามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นทั่วร่างกายที่ไม่ใช่อวัยวะต้นกำเนิดได้อีกด้วย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
2. โรคมะเร็งคือสาเหตุการตายอันดับ 1
สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี โดยจากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2562 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี และจากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี
3. โรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย
5 อันดับมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วน 5 อันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย ได้แก่
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งปากมดลูก
(ข้อมูลจาก Global Cancer Observatory 2563)
4. มะเร็งเกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก และอีกร้อยละ10 เป็นปัจจัยของพันธุกรรมในครอบครัว โดยปัจจัยภายนอกที่ว่านั้น คือ พฤติกรรมการปฏิบัติตัวให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา
- พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ
- ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ บางชนิด
- ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
- การได้รับรังสี
- ภาวะอ้วน เป็นต้น
5. มะเร็งสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร
การจะวินิจฉัยมะเร็งนั้น ทำได้จาก การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยไปตรวจทางพยาธิวิทยา การเอกซเรย์ และ อาจจะมีการตรวจพิเศษต่างๆ ขึ้นกับ ชนิดของมะเร็งนั้นๆ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
6. มะเร็งแบ่งเป็นกี่ระยะ
โดยทั่วไปมะเร็ง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 – 3 (หรือระยะไม่แพร่กระจาย) กับระยะที่ 4 (หรือระยะที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว) เป้าหมาย ของการรักษา ระยะที่ 1-3 คือการหายขาดจากโรค ส่วนระยะที่ 4 เรารักษาเพื่อประคับประคองหรือควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น
7. มะเร็งรักษาได้อย่างไร
ทางเลือกในการรักษามะเร็งมีได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาชนิดต่างๆ เช่น เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก หรือ การให้การรักษาร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย
8. จะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอย่างไร
เลิกสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการทานผักผลไม้ ลดพฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงแสงแดด สารรังสี และสารเคมีอันตรายต่างๆ หมั่นตรวจ และสังเกตความผิดปกติของร่างกายเช่น ก้อน ตามอวัยวะต่าง เลือดออกผิดปกติ น้ำหนักลดผิดปกติ ปวดท้องเรื้อรัง ไอเรื้อรัง เป็นต้น
9. มะเร็งพบเร็ว รักษาทัน ป้องกันได้
ถ้าสามารถทำการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้ ในปัจจุบันแนะนำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น การตรวจแมมโมแกรมเต้านม การส่องกล้องลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด เป็นต้น
ในปัจจุบันมีการพัฒนาการตรวจที่คลอบคลุมถึง การตรวจยีนที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ท่านตระหนักถึงภาวะเสี่ยงในครอบครัว เข้าสู่การตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้น และสามารถมีทางเลือกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในอนาคตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง