การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมที่บ้านอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านของสุขภาพที่ถดถอยแล้ว อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ เป็นต้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืม จึงทำให้การดูแลผู้สูงอายุกลายเป็นเรื่องกังวลใจของหลายคน แต่ในความจริงแล้วหากดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวด้วยความรัก ความเข้าใจ ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสมและปลอดภัย การรับมือกับผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมจะกลายเป็นเรื่องง่าย
อาการหลงลืมในผู้สูงอายุร
อาการหลงลืมเป็นกลุ่มความผิดปกติทางสมองที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการใช้เหตุผล การตัดสินใจ และความจำ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการการพูด การอ่าน การเขียน และการวางแผนทำงานต่างๆ โดยอาการหลงลืมนั้นเป็นภาวะปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่หากอาการหลงลืมมีความรุนแรงจากภาวะสมองเสื่อม ที่มักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าตัวเองต้องใส่แว่นตา หรือจำไม่ได้เลยว่าบ้านอยู่ที่ไหน ลืมปิดเตาแก๊สจนเกิดเหตุไฟไหม้ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการลืมที่อันตราย หรือหลงลืมจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ ควรรีบพบแพทย์
การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืม
การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมควรดูแลโดยการเน้นสื่อสารระหว่างกันและกัน เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดและพัฒนาสมองอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุให้มีการดำรงชีวิตที่เป็นปกติ มีความปลอดภัย และมีความสุข ได้ดังนี้
- ผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องเข้าใจผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมก่อนว่าไม่เหมือนผู้ป่วยโรคทั่วไปและต้องใช้ความใจเย็นในการดูแล อาจมีการเข้าใจผิดและใช้อารมณ์ของท่านบ้าง ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ควรใส่ใจ ใช้หัวใจในการฟัง อดทนรอคำตอบ อย่าเร่งเร้า หรือรีบร้อนเกินไป ควรให้เวลาในการคิด การพูด ตั้งใจฟังความหมายและความรู้สึกที่อยู่ในคำพูด
- จัดตารางกิจกรรมประจำวันให้ชัดเจน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้มีกิจกรรมประจาวันต่อเนื่อง มีแบบแผนแต่ควรยืดหยุ่นได้ในบางกิจกรรม
- ดูแลเรื่องการใช้ยา ควรเน้นให้ผู้สูงอายุรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ จัดให้รับประทานยาให้ตรงเวลา จัดรายการยาให้เป็นปัจจุบันเสมอและเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่อาจเกิดจากการใช้ยา
- ป้องกันการทำกิจกรรมที่อาจอยู่ในสภาวะอันตราย เช่น การขับรถ หรือการทำอาหารด้วยตัวคนเดียว เพราะอาการหลงลืมอาจทำให้มีความสามารถในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ลดลง รวมไปถึงไม่ควรไปยังสถานที่ไม่คุ้นเคยเพียงลาพังหรือไปทำธุระคนเดียวโดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน และเมื่อมีอาการมากแล้วจะต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
- ปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัยและลดภาระต่อผู้ดูแลได้บ้าง เช่น การล็อกบ้านและรั้วไม่ให้ท่านออกนอกบ้านไปคนเดียว การติดป้ายบนเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้ชัดเจนโดยระบุว่าคืออะไร ใช้งานอย่างไร การติดป้ายหน้าห้องต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเป็นห้องอะไร เป็นต้น
- หมั่นกระตุ้นความจำด้วยการชวนพูดคุยเรื่องราวที่ยังจำได้เพื่อให้ฟื้นฟูความทรงจำ อาจนำรูปภาพเก่าๆ มาพูดคุย ชวนทำกิจกรรมที่คุ้นเคย ทำกิจวัตรที่ยังทำได้ การร้องเพลงจำเนื้อเพลง ออกกำลังกายเบาๆ การเดิน การแกว่งแขน เป็นต้น
- ควรให้ท่านพกป้ายประจำตัว หรือใส่สายข้อมือที่ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการพลัดหลงหากต้องออกนอกบ้าน หรือเกิดเดินหนีออกนอกบ้านไปคนเดียว
- ป้องกันภาวะการพลัดตกหกล้ม เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตได้
- ผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือสมาชิกในครอบครัวต้องพาผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการต่างๆ ติดตามการใช้ยา และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืมนั้น ผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัวมีความสำคัญที่ช่วยให้การรักษาอาการหลงลืมในผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความรัก และความเข้าใจจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่ดี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม