การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG) อีกหนึ่งการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

บายพาส, บายพาสหัวใจ, ผ่าตัดหัวใจ

การรักษาผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่า 70% มีอาการมาก หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมไปถึงในกรณีที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่งที่หากใช้การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดอาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจหรือ การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นอีกทางเลือกในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายโดยเฉียบพลันได้ดี ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่า การผ่าตัดบายพาสคืออะไร? และมีขั้นตอนอย่างไร? ไปทำความเข้าใจกัน


การผ่าตัดบายพาสหัวใจคืออะไร

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจหรือ การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตันให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยเส้นเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน

> กลับสารบัญ


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
  • กรณีที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่ง ที่หากใช้การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดอาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การผ่าตัดบายพาสหัวใจทำได้กี่วิธี

การผ่าตัดบายพาสหัวใจมีหลายวิธี โดยศัลยแพทย์หัวใจจะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยและตัดสินใจว่าควรใช้วิธีใดในการผ่าตัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้แก่

  1. การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (on-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะหยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อให้เส้นเลือดยังสามารถทำงานได้เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยไม่ผ่านหัวใจ
  2. การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (off-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะไม่หยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษในการสูบฉีดเลือด เป็นการผ่าตัดแบบหัวใจยังเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer เกาะยึดหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังเต้นเป็นปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม

> กลับสารบัญ

ก่อนทำผ่าตัดบายพาสหัวใจเตรียมตัวอย่างไร

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ ผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหาร และยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • งดการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์หัวใจและวิสัญญีแพทย์
  • ตรวจเช็คร่างกาย ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำการเอกซเรย์ปอด และเจาะเลือดตรวจสำหรับเตรียมเลือดสำรองไว้
  • เข้าพักที่โรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกาย

> กลับสารบัญ



ขั้นตอนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

โดยผู้ป่วยจะต้องดมยาสลบ จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดตรงบริเวณหน้าอกลงไปและตัดเส้นเลือดที่ปกติและมีคุณภาพ เช่น เส้นเลือดดำบริเวณขา หรือเส้นเลือดแดงบริเวณแขน มาทำทางเบี่ยงข้ามหลอดเลือดแดง ในบริเวณที่ตีบ หรือ อุดตัน เมื่อได้เส้นเลือดที่ดีที่สุดแล้ว แพทย์จะต่อเชื่อมเข้ากับเส้นเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า) ไปยังส่วนปลายของเส้นเลือดแดงหัวใจที่มีการอุดตัน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยรักษาอาการหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดบายพาสหัวใจ

เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดบายพาสหัวใจเรียบร้อยแล้ว ต้องปฏิบัติตัวดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามการรักษา
  • หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน
  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • เมื่อแผลหายสนิทประมาณ 10 วันหลังผ่าตัด สามารถอาบน้ำได้
  • ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และจัดการกับความเครียด
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง หากปรุงอาหารควรเลือกใช้น้ำมันพืช แทนเนยหรือน้ำมันจากสัตว์ หรือให้วิธีลวก ต้ม นึ่ง และอบแทน การทอด
  • สามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติที่เบาๆ ได้ภายใน 2 เดือนและสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

> กลับสารบัญ


ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน

การผ่าตัดบายพาสถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงมีความเสี่ยงและอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำและส่วนมากสามารถแก้ไขได้ดังนี้

  • ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
  • มีเลือดออก
  • ไตวาย
  • อัมพาต
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

> กลับสารบัญ


การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่าเคร่งครัด



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย