การผ่าตัดเส้นฟอกไต สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม
บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา
การรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ไตไม่สามารถขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายได้ จะต้องได้รับบำบัดทดแทนไต ด้วยวิธีการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านทางช่องท้อง หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดล้างไตตลอดชีวิตจำเป็นต้องผ่าตัดเส้นฟอกไต (Vascular access) ก่อนถึงเวลาฟอกเลือด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และประสิทธิภาพการรักษาที่ดีในระยะยาว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
เส้นฟอกไต หรือ เส้นฟอกเลือดคืออะไร?
เส้นฟอกไต (Vascular access) หรือ เส้นฟอกเลือดสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือ เส้นทางเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ป่วยไปยังตัวกรองเลือดแล้วนำเลือดที่ฟอกแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย จึงมีบางคนเปรียบว่าเส้นฟอกเลือดเป็นเหมือน “เส้นชีวิต” ของผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 ที่เลือกวิธีการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด จำเป็นต้องพบศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำเส้นฟอกเลือดเพื่อรับการประเมินและดูแลเส้นเลือดดำที่แขนทั้ง 2 ข้าง
เส้นฟอกไต แต่ละแบบเป็นอย่างไร
เส้นฟอกไต หรือ เส้นฟอกเลือด มีด้วยกันอยู่ 3 แบบ โดยเส้นฟอกเลือดที่เหมาะสมที่สุด คือ เส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula หรือ AVF) หากทำไม่ได้แนะนำเส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft หรือ AVG) และสายสวนหลอดเลือดระยะยาว (Permanent catheter) ตามลำดับ
- เส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous fistula หรือ AVF) ได้มาจากการผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำ เพื่อให้หลอดเลือดดำความแข็งแรง โดยมีผนังหลอดเลือดหนาและ ใหญ่ขึ้น รวมทั้งมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายหลอดเลือดแดง เพื่อใช้เป็นจุดในการแทงเข็มฟอกเลือด โดยที่การทำ AVF จะมีภาวะแทรกซ้อนและโอกาสการติดเชื้อน้อยกว่า และสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าเส้นฟอกเลือดแบบอื่นๆ แต่ต้องใช้เวลาในการรอให้เส้นพร้อมใช้งาน
- เส้นฟอกเลือดที่แขนชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft หรือ AVG) เป็นการผ่าตัดฝังหลอดเลือดเทียมที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำ โดย จะทำเมื่อเส้นเลือดปกติของผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือดจริงได้
- สายสวนหลอดเลือดระยะยาว (Permanent catheter) คือการใส่สายขนาดใหญ่ไปในหลอดเลือดดำใหญ่ของผู้ป่วยเพื่อให้สามารถนำเลือดปริมาณมากเข้าเครื่องฟอกเลือดหรือเครื่องไตเทียมได้รวดเร็ว ข้อดี คือ สามารถใช้ได้ทันทีหลังใส่สายเสร็จ แต่มีข้อเสีย คือ ถ้าใช้ไปนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดดำใหญ่อุดตัน และมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าชนิดอื่น
การผ่าตัดเส้นฟอกไตเป็นอย่างไร
เป็นการผ่าตัดทำเส้นฟอกไต ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่อยู่ในระยะที่ 4 และมีแนวโน้มที่ค่าอัตราการกรองของไตจะลดลงไปเรื่อยๆ จนต้องได้รับการฟอกเลือดภายใน 6 เดือน เพื่อเป็นการเตรียมเส้นฟอกเลือดให้มีขนาดใหญ่และแข็งแรงพอที่จะฟอกเลือดได้ เมื่อการดำเนินของโรคไตเรื้อรังเป็นมากขึ้นจนถึงเวลาที่ต้องฟอกเลือด ผู้ป่วยจะมีช่องทางใน การฟอกเลือดได้ทันที
ทำไมต้องผ่าตัดเส้นฟอกไต
การฟอกไตเป็นการล้างของเสียในร่างกาย โดยใช้เครื่องฟอกไตแทนไตที่เสียไปแล้ว การทำเส้นเลือดจะเป็นการทำให้ใส่เข็มล้างไตได้ง่ายขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในกระบวนการล้างไต ผู้ป่วยจะไม่จำเป็นต้องมีสายคาอยู่ที่คอ หรือที่ขาเพื่อใช้ในการล้างไต นอกจากจะไม่สะดวกแล้วยังเจ็บแผลและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเส้นฟอกไต
- ตรวจร่างกาย และตรวจอัลตราซาวด์เพื่อประเมินความพร้อมของหลอดเลือด ก่อนผ่าตัด
- ในระหว่างรอจนถึงวันผ่าตัด แนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการ รับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน จากโรคประจำตัว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการ งด หรือเลื่อนผ่าตัด
- ในกรณีผู้ป่วยรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด จำเป็นต้องงดยาก่อนผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ในบางรายแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในการตรวจหาหลอดเลือดก่อนผ่าตัด
- ห้ามลบรอยปากกาที่เขียนบนแขนของท่าน
- ระมัดระวังไม่ให้แขนข้างที่จะทำการผ่าตัด ถูกเข็มแทง เจาะเลือด หรือวัดความดัน
- ควรบริหารเส้นเลือดข้างที่จะทำเส้นฟอกไตด้วยการบีบและคลายลูกบอลสลับไปมาครั้งละ 10 – 15 นาทีเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด
- ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
ขั้นตอนการผ่าตัดเส้นฟอกไต
ก่อนการผ่าตัดจะต้องทำความสะอาดแขนข้างที่จะทำการผ่าตัด มีการฉีดยาชาเฉพาะที่ จากนั้นศัลยแพทย์จะทำการเปิดแผลขนาดเล็กที่แขนประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อหาหลอดเลือดแดงและดำ หลังจากนั้นจะทำทางเชื่อมติดต่อกันระหว่างหลอดเลือดทั้งสอง ส่งผลให้เลือดจำนวนมากไหลจากหลอดเลือดแดงไปยังหลอดเลือดดำ แล้วเส้นเลือดดำจะโป่งพอง ซึ่งเหมาะสำหรับการฟอกไต ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อผ่าตัดเสร็จและไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเส้นฟอกไต
- ควรสังเกตว่า หลังผ่าตัดมีเลือดออกมากผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิวหนังบริเวณผ่าตัดบวมโป่งหรือมีเลือดซึมไม่หยุด ควรปรึกษาแพทย์
- ในช่วงเวลา 7 วันแรกของการผ่าตัด โดยทั่วไปจะได้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีอาการบวมแดงร้อนกดเจ็บพร้อมกับมีไข้ แผลอาจมีการติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ระวังไม่ให้แผลผ่าตัดเปียกน้ำ 7-14 วัน หรือจนกว่าจะตัดไหม
- ควรยกแขนสูงโดยเฉพาะ 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งใต้ผิวหนังรอบๆ แผลผ่าตัด
- ควรออกกำลังฝ่ามือ แขน โดยวิธีกำลูกเทนนิส หรือ ลูกบอลลูกเล็กๆ เป็นจังหวะ (กำ-เกร็ง-ปล่อย) ประมาณ 400 ครั้ง/วัน
- ระวังอย่าให้แผลที่ผ่าตัดไปกระทบกระแทกของแข็งหรือของมีคม ระวังการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลกดทับเส้นเลือด
- ห้ามเจาะเลือด ห้ามวัดความดัน และห้ามแทงเข็ม เพื่อให้น้ำเกลือหรือยาบริเวณแขนข้างที่ทำการผ่าตัด
การทำเส้นฟอกไตก่อนถึงเวลาฟอกเลือด เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยสามารถเข้ารับคำปรึกษาและการวางแผนระยะยาวในการทำเส้นฟอกเลือดตั้งแต่เนิ่นๆ กับอายุรแพทย์โรคไตและศัลยแพทย์เพื่อให้มีเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือดที่ดี มีการไหลเวียนที่ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม