ทำไม...ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
แม้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนในผู้สูงอายุ จะเป็นปัญหาที่พบบ่อยจนกลายเป็นความเคยชินเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ภาวะนี้กลับส่งปัญหาต่อสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ปัสสาวะที่ราดออกมาจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต จนกระทั่งมีปัญหาที่รุนแรงตามมา เช่น การหกล้ม กระดูกหักเนื่องจากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยในเวลาค่ำคืน หรืออดหลับ อดนอนเพราะต้องตื่นตอนกลางคืนบ่อยครั้ง ฉะนั้นอย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและทำการรักษา จะช่วยบรรเทาอาการ และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้
อาการของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปวดปัสสาวะรุนแรงแล้วปัสสาวะราดออกมา
- ไอ จาม ปัสสาวะราด ปัสสาวะเล็ด
- ปัสสาวะรดที่นอน
- ปัสสาวะเล็ดราดตามออกมาอีกเล็กน้อยหลังการถ่ายปัสสาวะสุด
- ปัสสาวะไหลซึมตลอดเวลา
- ปัสสาวะไหลซึมเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
สาเหตุการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีอายุสูงขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆมีความเสื่อมของร่างกาย ทั้งในระบบของทางเดินปัสสาวะเองและในระบบที่เกี่ยวข้อง
- กระเพาะปัสสาวะมีความจุลดลง จำนวนปัสสาวะค้างเพิ่มมากขึ้นหลังการถ่ายปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยและอาจมีปัสสาวะราดได้บ่อย
- ผู้สูงอายุหญิงจะมีภาวะวัยทอง ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ส่งผลกระทบต่อทางเดินปัสสาวะ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัว หูรูดท่อปัสสาวะหดรัดตัวไม่ดี
- ผู้สูงอายุชายอาจเกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโต จนอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะได้บ่อยๆ ทำให้ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- การอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะราด
- ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน เบาจืด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคข้อเสื่อม เป็นต้น
- ปัญหาด้านจิตใจ โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในวัยผู้สูงอายุ เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าก็อาจจะมีปัสสาวะเล็ดราด
- ข้อจำกัดในการเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น มีอาการปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า ทำให้เดินลำบาก ขยับตัวนานกว่าจะไปเขาห้องน้ำได้ มีปัญหาด้านสายตาที่มองไม่ชัด
ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ส่งผลกระทบอย่างไร
การมีปัสสาวะเล็ดราดบ่อยครั้ง ทำให้ผิวหนังเปียกชื้น เกิดการระคายเคือง เกิดผื่นหรือผิวหนังเปื่อย ผิวหนังฉีกขาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อของผิวหนัง การที่ผู้สูงอายุกังวลเกี่ยวกับการปัสสาวะบ่อย ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ต้องรีบลุกไปขับถ่าย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน มีผลรบกวนต่อการนอนหลับ และการเดินไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ยังทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดการหกล้มและกระดูกหักได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจ มีผลต่อความรู้สึกลดคุณค่าในตัวเอง ทำให้แยกตัวจากสังคมเนื่องจากกลัวการปัสสาวะเล็ดราดในที่ชุมชน
การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ผู้สูงอายุที่มีปัญหาควรมาปรึกษาแพทย์พร้อมนำยาที่ใช้รับประทานเป็นประจำมาให้แพทย์ดู เนื่องจากภาวะปัสสาวะเล็ดในแต่ละแบบมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด รวมทั้งเน้นที่การบำบัดเชิงพฤติกรรม การใช้ยา และการใช้หัตถการต่างๆ ดังนี้
- ปรับพฤติกรรม โดยการปรับการดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำ 30 - 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หากมีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร ซึ่งการดื่มน้ำไม่ดื่มในปริมาณมากครั้งเดียวจนหมด พยายามฝึกควบคุมการขับถ่าย โดยยืดระยะเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานออกไป พยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนที่จะไปถ่ายปัสสาวะ ขณะที่เข้าห้องน้ำไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรงและควรปัสสาวะให้หมด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้สมองบวม ไตทำงานหนัก และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด การบริหารกล้ามเนื้อหูรูดให้แข็งแรงโดยฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดอย่างแรงเหมือนกำลังกลั้นปัสสาวะและขมิบ ครั้งละประมาณ 5 วินาที หยุดขมิบ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ 10 ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน
- ต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย ทำได้ตั้งแต่การให้ยาไปจนถึงรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
- การใช้ยารักษา ยาจะเข้าไปช่วยยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดอาการปัสสาวะบ่อย ลดอาการของการมีปัสสาวะเล็ดราด ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีขนาดโตทำให้สามารถเก็บกักปัสสาวะได้มากขึ้น
- การผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ จะพิจารณาใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้วิธีการใดๆ ได้แล้ว ด้วยการผ่าตัดนำส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร มาเสริมกระเพาะปัสสาวะทำให้มีขนาดโตขึ้น
ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดราด ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน แม้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ แต่หากอาการดังกล่าวเริ่มเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีอาการดังกล่าว หรือผู้ดูแลและคนในครอบครัวไม่ควรละเลยปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความสุขและทำให้คุณภาพชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุลดลง ทั้งนี้การรักษาหลายวิธีทำได้ไม่ยาก และสามารถส่งผลดีทำให้ผู้สูงอายุกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ