ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ไตใหม่ทำงานมีประสิทธิภาพ
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม
บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา
การปลูกถ่ายไตใหม่ ถือว่าเป็นการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่หายขาด ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จแล้ว กลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพได้ หลังปลูกถ่ายไตแล้วผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามหลังปลูกถ่ายไตใหม่ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น ภาวะปฏิเสธไตหรือการสลัดไต การติดเชื้อ อาการไม่พึงประสงค์จากยา และความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติตัวหลังการปลูกถ่ายไตอย่างมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ และทำให้ไตใหม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไต ควรทำความเข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด และเข้มงวดทุกขั้นตอนเมื่อกลับบ้าน ดังต่อไปนี้
1. ทำแบบบันทึกประจำวัน ติดตามอาการเป็นระยะเวลา 1 เดือน
- วัดอุณหภูมิร่างกาย ค่าปกติไม่ควรสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- ตรวจวัดความดันโลหิตก่อนอาหารเช้า และก่อนอาหารเย็น
- ตรวจดูลักษณะของปัสสาวะ ในเรื่องของ สี กลิ่น ปริมาณเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรติดต่อแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที ได้แก่
- ร่างกายมีไข้มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด
- ปวดศีรษะมากหรือความดันโลหิตสูงผิดปกติโดยเฉพาะ > 180/100 mmHg
- ปวดตึงท้องหรือปวดบริเวณที่ปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของภาวะปฏิเสธอวัยวะ
- ปัสสาวะขุ่น ถ่ายปัสสาวะแสบขัด และปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ
- ปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 1 ลิตรต่อวัน โดยที่ยังดื่มน้ำเป็นปกติ
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มถึงส้ม หรือมีเลือดปน
- บวมตามตัว เช่น ที่หนังตา ที่มือ ที่เท้า เป็นต้น
- อาการอื่นๆ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียกว่าปกติ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจาระเหลวติดต่อกันหลายวัน ไอติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
2. การดูแลแผลผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- หลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ห้ามทำแผลเอง ดูแลไม่ให้แผลเปียกน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ สามารถทำความสะอาดแผลได้ ล้างแผลวันละ 2 ครั้ง ด้วยสบู่และน้ำ
- ควรตรวจดูบริเวณแผลผ่าตัดทุกวัน เพื่อประเมินภาวะติดเชื้อ เช่น มีอาการบวม แดง ร้อน ตึง มีของเหลวซึม มีการแยกของแผลหรือไม่ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที
3. คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา
- รับประทานยาตรงเวลาอย่างเคร่งครัด และอย่าปรับปริมาณยาหรือหยุดยาเอง
- ยากดภูมิคุ้มกัน สามารถถูกรบกวนทำให้ระดับยาเปลี่ยนไป เมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นหลายชนิด ทำให้ระดับยาอาจจะสูงหรือต่ำ เกินไป ดังนั้นผู้ป่วยต้องไม่ซื้อยารับประทานเอง และควรปรึกษาแพทย์โรคไตหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาอื่นๆ
- การเก็บยาให้วางยาในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน หรือใช้กล่องยา หรือใช้การเตือนทางโทรศัพท์หรือการเก็บบันทึกการรับประทายยา เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
- แจ้งแพทย์ทราบทันที ถ้ามีอาการข้างเคียงใหม่ๆ จากยา หรือมีอาการผิดปกติเมื่อรับประทานยา
4. การออกกำลังกาย
- ช่วง 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด เดินและเคลื่อนไหวเบาๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก
- ช่วง 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด สามารถเดินรอบๆ ในบริเวณบ้าน ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- ช่วง 4 สัปดาห์แรกห้ามขับรถ
- ช่วง 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด สามารถเดินเร็วๆ ได้มากขึ้น ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
- ช่วง 6 สัปดาห์แรก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก 2-7 กิโลกรัม เช่น การอุ้มเด็ก ยกตะกร้า ตัดหญ้า เป็นต้น
- หลัง 8 สัปดาห์หลังผ่าตัดสามารถออกกำลังกายตามปกติได้
5. คำแนะนำในการพักผ่อนและการดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ
- ควรนอนหลับพักผ่อน อย่างน้อยวัน 8-10 ชั่วโมง ในระยะ 1 เดือนแรกหลังออกจากโรงพยาบาล
- ระวังเรื่องการติดเชื้อในช่วงแรกหลังปลูกถ่ายไต ด้วยการดูแลกิจวัตรประจำวัน เน้นเรื่องความสะอาดของ อากาศอาหารและน้ำดื่มเป็นหลัก โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก
- การรับวัคซีนต้องชี้แจงแพทย์ก่อนว่าได้รับการปลูกถ่ายไต
- ระวังเรื่องการตากแดดเป็นเวลานาน เพราะผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายไตยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป
- แนะนำให้เดินทางท่องเที่ยวหลังจากผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นระยะเวลา 3 เดือน
6. การรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และครบ 5 หมู่
- ไม่รับประทานอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด
- ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือผลไม้ที่ต้องรับประทานทั้งเปลือก
- งดรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ขมิ้น ทับทิม ขิง เกรฟฟรุต (Grapefruits) เนื่องจาก อาหารกลุ่มนี้อาจมีผลต่อระดับยากดภูมิบางชนิด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น อะโวคาโด กีวี ผลไม้แห้ง ส้ม มะละกอ มะเขือเทศ นมช็อกโกแลต โกโก้ เป็นต้น
- ดื่มน้ำสะอาดไม่น้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ควรมาตามแพทย์นัดเสมอ เพื่อตรวจวัดและปรับยากดภูมิคุ้มกันให้พอเหมาะ ตรวจการทำงานของไต ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนไต และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม