ผู้สูงวัยหูตึง แม้ไม่อันตราย แต่ไม่ควรมองข้าม
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
หูตึงกับผู้สูงอายุมักเป็นของคู่กัน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายได้ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักแล้วย่อมเสื่อมลงตามกาลเวลา แม้ว่าอาการหูตึงในผู้สูงอายุจะไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่การไม่ได้ยินนั้นกลับส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ดูแลหรือคนในครอบครัว และหากปล่อยไว้นาน ผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้ยินอีกเลย ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาซึมเศร้าได้
ประเภทอาการหูตึงของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุจะเกิดภาวะหูตึงได้แน่นอน แต่ว่าในแต่ละคนจะเกิดเร็วเกิดช้าไม่เท่ากัน หากเกิดมีมลพิษทางเสียงมาก เช่น ทำงานในอาชีพที่ได้รับเสียงดังมาก ก็จะเกิดอาการหูตึงไวกว่าคนอื่น โดยลักษณะของภาวะหูตึงในผู้สูงวัยอาจจะเป็นการฟังคำผิด ผิดความหมาย คุยอย่างหนึ่ง แต่เข้าใจเป็นอีกคำหนึ่ง ไม่ใช่เขาไม่ได้ยิน เขาฟังได้ยิน แต่เขาตอบมาเป็นอีกคำหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นภาวะหูตึง ไม่ใช่เฉพาะแค่การเรียกไปแล้วไม่หัน มันเกิดได้เร็วกว่านั้น
สาเหตุการหูตึงของผู้สูงอายุ
เกิดจากความเสื่อมของประสาทหูตามวัย อันนี้ก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง และมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง อาการพวกนี้จะเรียกว่า high pitch sound คือ เสียงที่ค่อนไปทางสูงก็จะเริ่มไม่ได้ยินก่อน ซึ่งก็จะทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร อันนี้ก็เป็นลักษณะธรรมชาติเหมือนกัน ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็จะไม่รู้ตัว คนที่จะรู้ก็คือคนรอบข้าง
แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่จะต้องหาเพิ่มเติม เช่น การเกิดอาการหูตึงข้างเดียว อันนี้อาจจะไม่ใช่อาการตามวัย อาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทหูแต่ละข้าง เช่น การมีเนื้องอกไปกดเส้นประสาทหูข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ต้องมาพบแพทย์
การพาผู้สูงอายุมาตรวจการได้ยิน
ข้อลำบากอย่างหนึ่งคือผู้สูงอายุมักจะไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา เราต้องสังเกตก่อนว่าคนรอบข้างในบ้านเป็นปัญหาไหมกับการต้องสื่อสารกับผู้สูงอายุคนนั้น ถ้าเป็นปัญหาก็ต้องเริ่มคุยกับผู้สูงอายุว่าตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ต้องหาสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุแก้ไขได้ บางสาเหตุก็แก้ไม่ได้ บางสาเหตุต้องแก้ไขโดยการใช้เครื่องช่วยฟัง โดยจะต้องใช้วินัยและความอดทนในการมารักษาพอสมควร เพราะฉะนั้นก่อนมารักษาต้องทำความเข้าใจกับผู้สูงอายุก่อนว่าจะต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้ง ต้องมาใส่เครื่องช่วยฟัง หลังใส่เครื่องช่วยฟังจะมีเสียงวิ้งๆ ต้องอดทนเป็นปี กว่าจะฟังเสียงได้ชัดเจน ผู้สูงอายุยอมไหม ถ้าผู้สูงอายุไม่ยอม บางครั้งมาก็อาจจะได้รู้สาเหตุ ได้รู้ว่าหูตึงจริง แต่ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข
แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าถ้าการสื่อสารเริ่มมีปัญหาในครอบครัว ต้องมาพบแพทย์ก่อนว่าผู้สูงอายุหูตึงจริงหรือไม่ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะได้ไม่โกรธผู้สูงอายุ
เทคนิคการสื่อสารกับผู้สูงอายุหูตึง
เทคนิคง่ายๆ ในการคุยกับผู้สูงอายุ มีดังนี้
- ดูก่อนว่าเขาหูตึงข้างไหนมาก ข้างไหนน้อย ถ้าหูตึงทั้ง 2 ข้าง หรือตึงมาก ให้พูดแบบเผชิญหน้ากัน ให้เขาดูปากเวลาพูดก็จะช่วยได้
- เลือกใช้คำในการพูดที่ง่ายขึ้น พูดช้า เสียงดัง ฟังชัด แล้วก็มีการทวนว่าเข้าใจไหม
เทคนิคเหล่านี้ช่วยลดข้อผิดพลาดในการสื่อสารได้ สามารถเริ่มทำได้เลย ไม่ว่าจะหูตึงจากสาเหตุไหน
การดูแลผู้สูงอายุหูตึง
มลภาวะทางเสียงส่งผลระยะยาว ไม่เห็นผลวันนี้แต่จะเห็นผลในวันหน้า ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุที่หูตึง สิ่งสำคัญก็คือการทำความเข้าใจ อย่างแรกคนรอบข้างต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะหูตึงเป็นอย่างไร ควรจะรับมืออย่างไร สาเหตุคืออะไรและแก้ไขอย่างไร
ในส่วนของผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจว่าเขาจะเป็นคนสุดท้ายที่เข้าใจเรื่องนี้ว่าเขามีปัญหา เพราะฉะนั้นต้องอาศัยเวลา การคุย การปรับความเข้าใจ แล้วก็ความอดทนในการแก้ไขปัญหา
ดังนั้นหากผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะหูตึง ผู้ดูแลเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อเรื่องการสื่อสาร ควรพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม