ผู้สูงอายุกับภาวะซึมเศร้า คนในครอบครัวควรเข้าใจ

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ผู้สูงอายุกับภาวะซึมเศร้า คนในครอบครัวควรเข้าใจ

นอกเหนือจากการเปลี่ยนที่เห็นชัดเจนภายนอก คือ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว เรื่องของสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายสิ่ง อารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษ จนส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ กลายเป็นภาวะซึมเศร้า โดยอาการของภาวะซึมเศร้านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความเจ็บปวดทรมานทางด้านร่างกาย แต่ในทางกลับกันภาวะซึมเศร้าทำร้ายสุขภาพจิตใจ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้แบบไม่สนใจ หรือไม่เข้าใจอาการของโรค สามารถกระทบต่อความสุขในชีวิตและอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างได้เช่นกัน


ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้า หรือ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มักเกิดในช่วงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมี 2 ลักษณะ คือ มีอาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้ว เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่งเมื่อเกิดขึ้น จะทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ รอบตัว มองโลกในแง่ร้าย ชอบอยู่เงียบๆ ตามลำพัง รู้สึกชีวิตสิ้นหวัง มองว่าตนไม่มีคุณค่า บางรายมีอาการตรงกันข้าม หงุดหงิด โมโหง่าย เอาแต่ใจตนเอง น้อยใจง่าย ทะเลาะกับลูกหลานบ่อยครั้ง อาการทาง จิตใจส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ นอนมากเกินปกติ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เบื่ออาหาร ชอบพูดเรื่องเศร้าๆ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีความคิดทำร้ายตนเองได้


ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีปัจจัยมาจาก พันธุกรรม ลักษณะนิสัย รวมกันสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ดังนี้

  1. ความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ความจำแย่ลง การได้ยินลดลง สายตาแย่ลง มีข้อจำกัด ในการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น
  2. ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ ผู้สูงอายุจะมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจ เกิดขึ้นจากความเสื่อมของสมองและระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม การเผชิญกับความสูญเสียและการพลัดพรากของคู่ชีวิต ญาติสนิทหรือเพื่อนฝูง เกิดความเหงา ขาดที่พึ่งทางใจ
  3. ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การมีบทบาททางสังคมลดลงทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียความมั่นคงในชีวิต รู้สึกว่าหมดความสำคัญในสังคม อยู่ในสภาวะที่ไร้คุณค่า สูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าตนเองกำลังเริ่มเป็นภาระของครอบครัว รวมไปถึงการสูญเสียการสมาคมกับเพื่อนฝูง เมื่อเกษียณอายุ หรือไม่สะดวกเดินทางเพราะปัญหาทางสุขภาพ
  4. ภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่รักษาไม่หาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา รู้สึกเบื่อหน่ายในการรักษาที่ยืดเยื้อ ยุ่งยาก เจ็บตัว มีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยที่มีผลการรักษาไม่หายขาด ผู้สูงอายุจึงไม่ยอมร่วมมือในการรักษา ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ทนทุกข์ทรมาน มีคุณภาพชีวิตแย่ลง



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

สังเกตอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้สูงอายุเข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้าแล้วหรือไม่ หากพบว่าผู้สูงอายุหรือ คุณพ่อคุณแม่ มีอาการดังต่อไปนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ ก็มีโอกาสว่าอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ โดยอาการที่เข้าข่ายซึมเศร้ามีดังนี้

  1. การรับประทานอาหารผิดปกติ อาจจะรับประทานมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไม่สบายใจก็ยิ่งรับประทานมาก หรือบางคนก็ตรงข้าม คือ รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร ซูบผอมลงทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาทางร่างกาย บางคนมี อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  2. รูปแบบการนอนที่ผิดปกติ อาจจะมีการนอนหลับมากกว่าปกติ เช่น มีอาการง่วง ซึม อยากนอนตลอดเวลา หรือบางคนก็ตรงข้ามคือ นอนไม่หลับ ตกใจตื่นตอนดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้อีก บางคนอาจมีอาการฝันร้ายติดต่อกันบ่อยๆ
  3. ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลงมาก หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเกือบทุกวัน เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ รวมทั้งไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง
  4. นิ่ง พูดคุยน้อย ไม่อยากพูดคุยกับใคร ผู้สูงอายุนิ่งไม่ค่อยตอบสนอง ลูกหลานคุยด้วยก็ไม่สนใจ
  5. อารมณ์เปลี่ยนไป บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดบ่อยขึ้น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ช่างพูด ช่างคุย ก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว ไม่พูดไม่จา บางคนอาจเคยพูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิมจนสังเกตเห็นได้ และสร้างความลำบากใจให้กับคนรอบข้าง เป็นต้น
  6. รู้สึกตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิต บ่นว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือ รู้สึกผิดมากกว่าปกติ มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง

แนวทางการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เนื่องจากสาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้านั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ถ้าสาเหตุมาจากภาวะทางจิตเวชโดยตรง ต้องปรึกษาแพทย์ทางจิตเวชในการดูแลรักษา โดยการใช้ทางยาจิตเวชในการควบคุมเป็นหลัก

แต่หากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ สังคม สภาพแวดล้อม ประสบการณ์การสูญเสีย การรักษานั้นอาจให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา บำบัดจิต ปรับวิธีคิด และปรับทัศนคติทางลบให้ดีขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เข้ามามากขึ้น รวมทั้งอาศัยการปรับตัวของลูกหลาน คนในครอบครัว คนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ทิ้งผู้สูงอายุไว้ตามลำพัง ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาร่วมด้วย โดยเริ่มใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อนๆ ก่อน และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ


วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัยแต่ยิ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นภาวะซึมเศร้านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้สูงอายุ ลูกหลานควรจะให้ความดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ดังนี้

  1. ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยการคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น
  2. อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ที่ทำให้คุณต้องแบกภาระเหนื่อยยากในการดูแล
  3. ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ แก้ไขไปตามอาการที่พบ เช่น อาการเบื่ออาหาร ผู้ดูแลควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายและไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ อาการนอนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ เป็นต้น
  4. หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเพลิดเพลิน สิ่งที่ท่านชอบและสนใจที่จะทำ หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นในผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัวได้
  5. ชวนสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ
ภาวะซึมเศร้ามีโอกาสเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่น และเมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหายแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นอีกได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอยู่เสมอ ว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้สูงอายุในครอบครัว มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ จะได้ป้องกันได้ทันท่วงที และหากมีอาการ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย