ต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณคอ จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดการเผาผลาญของร่างกายที่เป็นปกติ รวมทั้งทำให้อวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อทำงานเป็นปกติ
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ คืออะไร
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เกิดจากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดอาการหนาวง่าย เหนื่อยง่าย ผิวแห้ง หลงลืม น้าหนักขึ้น ท้องผูก และเป็นตะคริว
สาเหตุของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายต่อมไทรอยด์ การได้รับการผ่าตัดบริเวณต่อมไทรอยด์ และได้รับการฉายแสงบริเวณลำคอ หรือเคยกลืนน้ำแร่รังสีเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือมะเร็งต่อมไทรอยด์
ส่วนสาเหตุที่พอพบได้บ้าง เช่น เป็นไทรอยด์ทำงานน้อยแต่กำเนิด ไทรอยด์อักเสบ ได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปตลอดจนจากยาบางชนิด
เมื่อมีอาการที่เข้าได้กับภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีญาติเป็นโรคไทรอยด์ ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคไทรอยด์ได้มาก
เมื่อพบแพทย์แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือด ดังนี้
- Free T4 ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย
- TSH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง เพื่อดูว่าในร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์เพียงพอหรือไม่ ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์มีไม่พอจะทำระดับ TSH สูงขึ้นดังตาราง
ระดับ Free T4 | ระดับ TSH | การแปลผล |
---|---|---|
ปกติ | ปกติ | การทำงานไทรอยด์ปกติ |
ต่ำ | สูง | ภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย |
สูง | ต่ำ | ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ |
การรักษา
ทำได้โดยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดรับประทาน ซึ่งฮอร์โมนที่รับประทานเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดเดียวกับที่ร่างกายสร้าง หลังจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ อาการต่างๆ จะหายไป
อย่างไรก็ตาม ภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยส่วนมากมักไม่หายขาด ต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอด หลังจากรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ ควรจะได้รับการตรวจเลือดทุก 6-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่าปริมาณฮอร์โมนที่ให้เหมาะสมหรือไม่ เมื่อฮอร์โมนอยู่ในระดับดีแล้ว สามารถติดตามการรักษาห่างออกไปตามดุลยพินิจของแพทย์
ผลเสียของการรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์
อาจเกิดขึ้นได้ หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ โดยมีอาการมือสั่นใจสั่น น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เป็นต้น แต่อาการดังกล่าวจะไม่เกิดหากมารับการตรวจติดตาม และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ในทางกลับกันหากรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไปจะทำให้อาการของภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยยังอยู่
อนึ่งอาหารและยาบางอย่าง หากรับประทานพร้อมหรือใกล้กันกับฮอร์โมนไทรอยด์ อาจทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ที่รับประทานดูดซึมได้ไม่ดี จึงควรรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ตอนท้องว่าง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมกับยาอื่นๆ
นอกจากนี้ ในกรณีผู้หญิงที่เป็นภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย หากรู้ว่าตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะความต้องการฮอร์โมนไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากทารกในครรภ์มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนไทรอยด์ในการพัฒนาอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงที่เป็นภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะตั้งครรภ์
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม