มะเร็งคือโรคร้ายที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากมีคนในครอบครัว หรือญาติสายตรงมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง บุคคลนั้นอาจมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มจะเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไปที่มียีนปกติ รวมทั้งยังส่งผลให้สามารถเกิดโรคมะเร็งได้ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมทำให้เกิดความผิดปกตินี้ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก และอีกส่วนมาจากพันธุกรรม ฉะนั้นการตรวจพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งจึงมีประโยชน์ในการบอกโอกาสในการเกิดโรค ทำให้สามารถหาทางป้องกัน รับมือ และปรับการใช้ชีวิตให้ห่างไกลความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเอง และทายาทได้
พันธุกรรมคืออะไร
พันธุกรรม (Heredity) คือ การถ่ายทอดลักษณะต่างๆ มาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นพ่อแม่ โดยถ่ายทอดลักษณะเหล่านั้นส่งต่อไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ หรือรุ่นลูกหลาน โดยอาจเรียกอีกอย่างว่า กรรมพันธุ์ โดยที่มียีน (Gene) ที่อยู่ภายในเซลล์ร่างกายคอยควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของพันธุกรรมให้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีผิว เส้นผม ความสูง รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ หรือแม้แต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็ล้วนเป็นผลมาจากพันธุกรรมทั้งสิ้น
มะเร็ง เกี่ยวข้องกับ กรรมพันธุ์อย่างไร
โรคมะเร็ง คือ เซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติโดยที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมทำให้เกิดความผิดปกตินี้แบ่งเป็น ประมาณ 90% เป็นปัจจัยภายนอก เช่น พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้รับสารพิษในสิ่งแวดล้อม หรือการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น กับอีกประมาณ 10% เป็นปัจจัยภายในคือ ได้รับกรรมพันธุ์ที่เสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งมาจาก บรรพบุรุษของเราเองทำให้เซลล์ในร่างกายมีแนวโน้มที่จะเกิดมะเร็งได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่น ถ้ามีกรรมพันธุ์ของมะเร็งเต้านม BRCA ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 80% เป็นต้น
จะตรวจกรรมพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งได้อย่างไร และ ตรวจในมะเร็งชนิดไหนได้บ้าง
การตรวจกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง ทำได้ง่ายๆ เพียงเจาะเลือด 1 หลอด ไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน และจะได้ผลกลับมา ประมาณ 3 สัปดาห์
มะเร็งที่เลือกตรวจมักเป็นมะเร็งที่อัตราการเกิดมะเร็งโอกาสถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สูง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งกระเพาะอาหารมะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งผิวหนังเม็ดสี เป็นต้น
ตรวจแล้วมีประโยชน์อย่างไร และใครควรได้รับการตรวจบ้าง
- ผู้ป่วยที่ทราบแล้วว่าเป็นมะเร็งแล้ว การตรวจเพื่อยืนยันว่าการเป็นมะเร็งนั้นสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์หรือไม่ และอาจจะส่งผลต่อการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึง ค้นหาความเสี่ยงของคนอื่นในครอบครัวต่อไป
- ผู้ที่ยังไม่เป็นมะเร็งและต้องการค้นหาความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากกรรมพันธุ์ เช่น อาจจะมีประวัติ คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แล้วสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือไม่ หรือ อาจจะไม่มีประวัติเสียงใดๆ แต่ต้องการทราบว่าตนเอง จะมีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งซ่อนอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และเข้าสู่การตรวจคัดกรองเร็วขึ้น เพื่อพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
เมื่อผลออกแล้วส่งผลต่อการป้องกัน หรือรักษามะเร็งอย่างไร
ถ้าผลออกมาว่าพบกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง มีวิธีการป้องกัน หรือรักษามะเร็งได้ดังนี้
- ปรับพฤติกรรม และมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็ง หรือตรวจคัดกรองกมะเร็งอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ยังไม่เป็นมะเร็ง
- มีการให้ยาบางชนิดที่เหมาะกับมะเร็งที่เกิดจากกรรมพันธุ์ เพื่อเพิ่มการตอบสนอง และลดโอกาสการเกิดมะเร็งชนิดนั้นๆ เมื่อเทียบกับการรักษาปกติ
- ทางเลือกในการผ่าตัดเอาอวัยวะที่เสี่ยงนั้นออก ในระยะเวลาที่เหมาะสม
แต่ถ้าผลออกมาว่าไม่พบกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง ไม่ได้หมายถึงจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเลย เนื่องจากสาเหตุมะเร็งอาจจะเกิดจาก ปัจจัยภายนอกได้ ดังนั้นท่านจึงยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเทียบเท่ากับคนทั่วไป เพียงแต่ไม่สูงเท่ากับคนที่มีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งในครอบครัว
อย่างไรก็ตามการมีกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง เป็นการบอกว่าคุณมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งแน่นอน 100% โดยที่สำคัญคือหากทราบแล้วต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง