มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย โรคอันตรายที่ไม่อาจมองข้าม

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง

บทความโดย :

มะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวมากผิดปกติ ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากกว่าปกติในกระแสเลือดส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดอื่นๆ ได้ตามปกติและอาจแทรกซึมไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติไป โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ และเป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย


เม็ดเลือดขาวสำคัญอย่างไร

เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน ในการช่วยต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา รวมทั้งป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติและสารแปลกปลอมอื่น โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติจะเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเมื่อระบบภูมิคุ้มกันระดมเซลล์เม็ดเลือดขาวไปตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ


มะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นอย่างไร

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ โรคลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในไขกระดูก เกิดจากมีเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเติบโตมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดของเซลล์เหล่านี้ ได้ไปทำลายระบบการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ และเกล็ดเลือดลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือดตามร่างกาย และติดเชื้อง่าย นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถไปสะสมตามอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้ามโต


มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็นกี่ชนิด

ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลาการเกิด ซึ่งการแบ่งชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีผลต่อการเลือกวิธีการรักษา เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดมีการดำเนินโรคและการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. แบ่งตามระยะเวลาการดำเนินโรค
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (acute leukemia) คือ การที่เซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง โดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (chronic leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีหลายประเภท บางชนิดจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมามากเกินไป ทำให้ในเลือดมีเซลล์เม็ดเลือดขาวในระยะตัวอ่อนที่มากกว่าปกติซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังนี้เนื่องจากความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยเป็นเวลานับปี แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด หรือตรวจพบตัว หรือม้ามโตผิดปกติ
  2. แบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซิติก (lymphocytic leukemia)เป็นมะเร็งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ในน้ำเหลืองและก่อตัวขึ้นในต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลืองช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างถูกต้อง
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอีโลจีนัส (myelogenous leukemia) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์สายไมอีโลจีนัสซึ่งช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และเซลล์ผลิตเกล็ดเลือด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ เช่น การติดเชื้อ การได้รับรังสีขนาดสูง เช่น รังสีนิวเคลียร์ การได้รับสารเคมีบางอย่าง โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถจะพัฒนาได้จากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม


อาการแสดงของมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ได้แก่

  • ภาวะโลหิตจาง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงลดลง
  • มีภาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวลดลง
  • มีภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงภาวะเลือดหยุดยาก เนื่องจากเกล็ดเลือดลดลง
  • มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต
  • คลำพบก้อนตามตัว หรือปวดกระดูก

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไป พร้อมกับการซักประวัติอาการเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีข้อบ่งชี้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  1. การเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) อาจพบฮีโมโกลบินต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำกว่าปกติก็ได้ และอาจพบเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนได้
  2. การตรวจไขกระดูก เพื่อนับจำนวนเซลล์ตัวอ่อน ส่งตรวจพิเศษเพื่อแยกชนิดของเซลล์ myeloid และ lymphoid รวมถึงส่งตรวจโครโมโซมเพื่อการพยากรณ์โรค ซึ่งการเจาะไขกระดูกเป็นการตรวจที่จำเป็นในการวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยแพทย์จะใช้เข็มดูดและตัดชิ้นเนื้อบริเวณหลังกระดูกสะโพกหรือหลังกระดูกเชิงกราน (ไม่ใช่การเจาะน้ำไขสันหลัง) ระยะเวลาในการเจาะประมาณ 10-15 นาที และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวรักษาได้อย่างไร

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น แพทย์จะทำการประเมินโรค อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ก่อนแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม ได้แก่

  • การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) แพทย์จะใช้เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ โดยระยะในการรักษานั้นแพทย์จะพิจารณาตามชนิดและความรุนแรงของโรค รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วย
  • การรักษาแบบยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการตอบสนองในการรักษาสูง สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
  • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยแพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องหรือผู้บริจาคที่เข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยหลังจากได้รักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
  • รังสีรักษา เป็นการรักษาที่ใช้รังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต

การติดตามผลการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

หลังจากทำการรักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจอาการและเจาะเลือดทุก 1-2 เดือนในช่วงปีแรก ถ้าผลตรวจปกติ จะนัดติดตามทุก 3-6 เดือนอย่างน้อย 5 ปี หากไม่พบภาวะผิดปกติใดๆ จึงจะถือว่าหายขาดจากโรค เพราะโอกาสกลับเป็นซ้ำจะลดลงเมื่อเวลานานขึ้น

หากพบว่าตนเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด มีอาการที่ผิดปกติเหล่านี้ เช่น เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค เพราะการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะทำให้มีการตอบสนองต่อการรักษาและมีโอกาสหายมากกว่าระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย