ยืน เดิน นั่งลำบาก ภาวะกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงอายุ

ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ยืน เดิน นั่งลำบาก ภาวะกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงอายุ

ภาวะกระดูกพรุน มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่มีมวลกระดูกเปราะบาง แต่ผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัว อาการของโรคกระดูกพรุน จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรก มักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นสะสมในร่างกายมานาน จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกหัก และจะทราบว่าป่วยก็เมื่อมีอาการอื่นๆ เช่น มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังค่อม ส่วนสูงลดลง หรือแขน กระดูกข้อมือ สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักง่าย เป็นต้น จึงทำให้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าสภาวะกระดูกของตนเองนั้นบางไปมากน้อยเพียงใดแล้ว และไม่ได้สนใจที่จะดูแลป้องกันภาวะกระดูกพรุนอย่างจริงจัง


โรคกระดูกพรุน คืออะไร

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ ความผิดปกติของกระดูกที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง และมีการเสื่อมสลายของโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง โดยปกติความแข็งแรงของกระดูกนี้เกิดจากสองปัจจัยรวมกัน คือ ความหนาแน่นของกระดูก และคุณภาพของกระดูก ซึ่งลักษณะกระดูกที่พรุนจะมีความกลวงภายในมากขึ้น มวลกระดูกส่วนที่อยู่ตรงกลางจะน้อยลง และกระดูกส่วนด้านนอกก็จะบางลงและอ่อนแอลงเรื่อยๆ เสี่ยงต่อการหกล้มหรือกระแทกแล้วกระดูกหัก ร้าว หรือแตก ปวดขัดภายใน การเดิน ลุก นั่ง และยืนจะทำได้ลำบากมากขึ้น


อันตรายจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุนสามารถสร้างความทุพพลภาพให้แก่ผู้สูงอายุได้ เพราะการที่ร่างกายมีมวลกระดูกที่น้อยลง ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะตำแหน่งข้อสะโพก หากกระดูกข้อสะโพกหักจากกระดูกพรุน จะเป็นภาวะที่มีอันตรายสูง เนื่องจากภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุจะรักษาได้ยาก มีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ โรคทางระบบหายใจ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินไม่ได้ พิการ การเกิดแผลกดทับ (กรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง) และบางรายอาจถึงแก่ชีวิต





สาเหตุของโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

  • เกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เนื้อกระดูกลดลงตามไปด้วย
  • อายุที่ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้กระดูกบางและพรุน
  • กรรมพันธุ์ หากญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับโรคดังกล่าวด้วย
  • ที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน
  • การทานยาบางชนิด ซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
  • โภชนาการ คือ การได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูกไม่เพียงพอ หรือกินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ดื่มน้ำอัดลม กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ขาดการออกกำลังกาย ขยับร่างกายน้อยหรือไม่ขยับร่างกาย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น
  • การสูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก

แพทย์วินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนอย่างไร

การตรวจมวลกระดูก หรือการตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ว่า คุณกำลังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งการตรวจจะหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่างๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ข้อมือ และกระดูกทั้งตัวว่ามีภาวะกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด โดยการใช้รังสีที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner พลังงานต่ำสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ซึ่งจะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย

แพทย์จะตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุนใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip) กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) และกระดูกแขนส่วนปลาย (Forearm) โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังส่วนเอวที่นิยมตรวจกันมากที่สุด ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที และสามารถทราบผลได้ทันที โดยสามารถประเมินสภาวะโรคกระดูกพรุนโดยสามารถวัดได้จากค่า T-Score ซึ่งเป็นหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในวัย 30 ปี ที่ถือว่าเป็นวัยที่กระดูกกำลังมีความหนาแน่นสูงที่สุดเป็นมาตรฐาน ดังนี้

  • ค่า T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
  • ค่า T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T-Score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

การดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

1. การรักษาด้วยยา มียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคกระดูกบาง หรือบางท่านจะเลือกใช้วิธีฉีดยารักษาโรคกระดูกพรุน โดยแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เช่น

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน มักให้ในกลุ่มผู้ป่วยตัดรังไข่ หรือ เพื่อลดอาการจากการหมดประจำเดือน
  • แคสซิโนติน (Calcitonin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่สกัดจากปลาแซลมอน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์กระดูกสันหลังหัก มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
  • ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในผู้ป่วยที่กระดูกพรุนรุนแรง

การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก อาทิ

  • การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Kyphoplasty) ในผู้สูงอายุบางรายที่มีภาวะกระดูกสันหลังหัก หรือยุบ ที่มีอาการปวดหลัง และกระดูกสันหลังผิดรูป
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ในรายที่กระดูกสะโพกหัก จะเป็นการนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ กระดูกตาย หรือแตกหักออก และทดแทนข้อใหม่ด้วยข้อสะโพกเทียม ซึ่งประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้น ผู้ป่วยจะหายจากอาการเจ็บปวด มีข้อสะโพกที่มั่นคง เคลื่อนไหวได้ดี สามารถใช้งานได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับปกติ
อย่างไรก็ตามผ ู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ควรมารับการตรวจโดยละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก และหากไม่ได้รับการตรวจเช็คความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นประจำ หากผู้สูงอายุลื่นหกล้ม เกิดการกระแทก แม้จะเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย กระดูกก็เกิดการหักได้ง่าย ที่สำคัญหากกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย