โรคไทรอยด์เป็นพิษ อันตรายกว่าที่คิด

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : พญ. รสสุคนธ์ ลิขิตจิตถะ

ไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Graves) พบบ่อยที่สุดถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษทั้งหมด เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 10 เท่า ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการของไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น น้ำหนักลด ร่วมกับมีคอพอก ตรวจพบต่อมไทรอยด์ขนาดโตขึ้น สังเกตเห็นได้ที่ด้านหน้าของคอ แต่ลักษณะการโตจะโตทั่วๆ ไป ไม่เห็นเป็นก้อนชัดเจน


อาการและอาการแสดงที่พบบ่อย

อาการทางตา พบได้ร้อยละ 20 ของคนที่เป็นโรคไทรอยด์ชนิดนี้ โดยมีอาการระคายเคือง แสบ น้ำตาไหลง่าย หนังตาบวม ตาโปน ซึ่งในบางรายอาจไม่โปน แต่หนังตาปิดตาขาวส่วนบนน้อยกว่าปกติ จึงดูเหมือนตาเหลือก อาการทางตาอาจจะดีขึ้นเมื่อฮอร์โมนกลับเข้าสู่ระดับปกติ ในกรณีที่เป็นมาก อาจจะเกิดตาปูดหรือโปนออกมานอกเบ้าตา มองเห็นภาพซ้อน บางครั้งอาจจะมีอาการตามัว อาการทางตาที่เกิดจากไทรอยด์เป็นพิษต้องใช้การรักษาเฉพาะ เช่น การใช้ยาที่ลดการอักเสบ ยากดภูมิ หรือ ฉายแสง หากเป็นระยะเริ่มแรกอาจรักษาให้หายได้ แต่หากเป็นนานหรือเป็นมาก การรักษาจะยากขึ้นและอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

อาการผมร่วง ในหลายคนอาจมีผมร่วงมาก บางครั้งร่วงเป็นกระจุกเวลาสระผม อาการผมร่วงในผู้ที่เป็นโรคนี้พบได้บ่อยและก่อให้เกิดความกังวลต่อภาพลักษณ์ ซึ่งหากรักษาต่อมไทรอยด์ให้กลับมาทำงานปกติ ผมจะกลับมาหนาเหมือนเดิม

อาการแขนขาไม่มีแรง เกิดจากระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน หรือจากพิษของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ

ความผิดปกติของผิวหนัง มักเกิดบริเวณหน้าแข้ง อาจเกิดขึ้นพร้อมกับความผิดปกติของตา ผิวหนังที่เป็นจะหนาขึ้นมาเป็นปื้น หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณใดก็ตามที่ได้รับแรงกดหรือเสียดสีมาก เช่น ที่เท้าจากรองเท้าเสียดสี หรือหัวไหล่จากการแบกของ เป็นต้น

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดมักทำให้อาการเหนื่อยและใจสั่นดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงของตาและผิวหนังที่หนาขึ้นอาจไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน


ลักษณะการดำเนินโรค

พบว่าโรคนี้มีระยะเวลากำเริบของโรค (ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยยา) โดยมากประมาณ 1-2 ปี และมีระยะสงบ (ที่สามารถหยุดยาได้) และอาจจะเป็นๆ หายๆ กลับมาเป็นซ้ำได้อีก โรคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันไวเกินเกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารพวกแอนติบอดี้ ซึ่งปกติต้องสร้างมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรค แต่คนที่เป็นโรคนี้แอนติบอดี้ที่สร้างขึ้นมาจะเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากขึ้น เมื่อใดที่ร่างกายสร้างสารแอนติบอดี้น้อยลง โรคจะสงบลงได้


การรักษา

การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษทำได้ 3 วิธี คือ

1. การรักษาโดยการกินยา

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ คือ ยาที่ออกฤทธิ์ลดการสังเคราะห์ฮอร์โมน ทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยลง เมตาบอลิซึมของร่างกายจะลดลง อาการต่างๆ ที่เกิดจากการมีเมตาบอลิซึมสูงจะหายไปเช่นใจสั่นเหนื่อยผอมลงขี้หงุดหงิดมือสั่นโดยมากจะให้ยา 1-2 ปีแล้วหยุดยาร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยมักหยุดยาได้ส่วนที่เหลือต่อมไทรอยด์จะกลับเป็นพิษขึ้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปีหลังหยุดยา ซึ่งสามารถให้การรักษาด้วยการกินยาต่อไปหรือใช้วิธีอื่นรักษาได้

ข้อดีของการรักษาด้วยยา ต่อมไทรอยด์ไม่ถูกทำลายและจะไม่เกิดโรคไฮโปไทรอยด์เมื่อหยุดยา

ข้อเสียของการรักษาด้วยยา ต้องปรับยาบ่อยเพื่อให้ต่อมสร้างฮอร์โมนออกมาในระดับที่พอดี ผู้ป่วยบางคนอาจกลับเป็นซ้ำเมื่อหยุดยาไม่หายขาด การแพ้ยาระดับที่ไม่รุนแรงอาจเป็นเพียงผื่นคันที่ผิวหนัง หรืออาจมีระดับรุนแรง (เกิดน้อยมาก) โดยกดให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำลงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นในระยะ 1-2 เดือนแรกของการกินยาหากมีอาการไข้สูง เจ็บคอ ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับของเม็ดเลือดขาว

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นพิษเป็นวิธีการรักษาดั้งเดิม การตัดต่อมไทรอยด์โดยมากตัดออก 70% ของขนาดเดิม ทำให้ขนาดเล็กลง ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในเลือดมีปริมาณลดลง ทำให้เมตาบอลิซึมของร่างกายไม่มากเกินไป

ในระยะยาว ต่อมไทรอยด์ส่วนที่เหลือจากการผ่าตัดมีโอกาสที่จะทำงานมากขึ้น เกิดการกลับเป็นซ้ำของโรค หรือทำงานน้อยลงจนมีฮอร์โมนไม่พอ ทำให้เกิดเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ (ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป) หลังผ่าตัดแล้วจึงยังควรติดตามการรักษาตามนัด

3. การกินแร่ไอโอดีนกัมมันตภาพรังสี (131)

แร่รังสีไอโอดีน 131 เป็นสารกัมมันตภาพรังสีของธาตุไอโอดีน เมื่อทิ้งไว้ไอโอดีน 131 จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไอโอดีน 128 ในกระบวนการเปลี่ยนนี้จะปล่อยกัมมันตภาพรังสีเบต้าออกมา เพื่อทำลายเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียงต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่นำแร่ไอโอดีน 131 เข้าไปเป็นองค์ประกอบในการสร้างฮอร์โมน T3 และ T4 และจะถูกทำลายช้าๆ ด้วยรังสีเบต้าจากแร่นี้ เหมือนเป็นการผ่าตัดทำลายต่อมไทรอยด์ด้วยแร่รังสีนั่นเอง

ปัจจุบัน สามารถยืนยันได้ว่าการรับไอโอดีน 131 นั้นไม่ทำให้เป็นหมัน หรือคลอดผิดปกติอย่างที่เคยเข้าใจ แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือภาวะไฮโปไทรอยด์ ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดหรือกินแร่มาแล้ว จึงควรตรวจสอบสภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์เป็นประจำทุกปี


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย