การปรับชนิดอาหารสำหรับคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก
ศูนย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
บทความโดย : พญ. พรพรรณ พานเพียรศิลป์
คนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของอาหารและของเหลวจากปากไปยังกระเพาะอาหาร อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน หรือมะเร็งในช่องปาก/โพรงจมูก การปรับเปลี่ยนชนิดอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนลำบาก จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอและปลอดภัยจากการสำลัก และลดโอกาสปอดติดเชื้อ ลดโอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร/น้ำ โดยการปรับเปลี่ยนอาหารจะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการ และความสามารถในการเคี้ยวและกลืนของแต่ละบุคคล
สารบัญ
ทำไมการปรับชนิดอาหารจึงสำคัญ
การปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก มีความสำคัญ เนื่องจาก
- อาหารที่มีเนื้อสัมผัสเดียวและความหนืดที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการสำลัก
- การปรับชนิดอาหารให้เหมาะสมช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน
- การรับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัยและอร่อยช่วยเพิ่มความสุขในการใช้ชีวิต
หลักการปรับชนิดอาหารสำหรับคนฝึกกลืน
หลักการปรับชนิดอาหารสำหรับคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก ดังนี้
- ความข้นหนืด ปรับความหนืดของอาหารและเครื่องดื่มให้เหมาะสมกับความสามารถในการกลืนของแต่ละบุคคล อาจจะเริ่มจากอาหารเหลวข้นปานกลาง และค่อยๆ เพิ่มความข้นขึ้นตามลำดับ
- เนื้อสัมผัส เลือกอาหารที่มีเนื้อสัมผัสละเอียด นิ่ม ไม่แข็ง ไม่เหนียว เคี้ยวง่าย และเป็นเนื้อเดียวกันไม่แตกกระจาย ไม่ควรทานเนื้อสัมผัสต่างกันพร้อมๆ กัน
- อุณหภูมิ อาหารอุ่นๆ จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลายและการกลืนได้ดีกว่าอาหารร้อนหรือเย็นจัด
- ปริมาณ เริ่มจากปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อย
- ท่าทางในการรับประทาน ควรนั่งตัวตรง ขณะรับประทานอาหาร หรือบางคนที่อ่อนแรงควรหันหน้าไปด้านที่อ่อนแรงขณะทาน หรือก้มคอให้คางชิดเล็กน้อยขณะทาน
- ความหลากหลาย แม้ว่าจะต้องจำกัดชนิดอาหาร แต่ก็ควรหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงชนิดอาหารและรสชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนและไม่เบื่ออาหารที่มีรสชาติเดิมๆ
- อาหารรสเปรี้ยวหรือเค็มเล็กน้อย จะกระตุ้นการกลืนได้ดีกว่า รสชาติอื่นๆ
ระดับความหนืดอาหารตามมาตรฐาน IDDSI
ตามมาตรฐาน International Dysphagia Diet Standardization Initiative (IDDSI) เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ในการจำแนกความหนืดของอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วย และคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่
- ระดับ 0: น้ำเปล่า
- ระดับ 1: น้ำผลไม้ใส, นม
- ระดับ 2: โยเกิร์ตบางเหลว
- ระดับ 3: ซุปข้น, น้ำผึ้ง
- ระดับ 4: อาหารปั่น เช่น โจ๊กปั่น, ฟักทองบด, กล้วยบด
- ระดับ 5: อาหารสับละเอียดชุ่มน้ำ เช่น เนื้อสัตว์สับละเอียด, ผักผลไม้สับละเอียด
- ระดับ 6: อาหารอ่อนและชิ้นเล็กขนาดพอดีคำ เช่น ปลาต้มสุก, ผักต้มสุก
- ระดับ 7: อาหารทั่วไป เช่น ข้าวสวยหุงนิ่ม, แกงจืด, ก๋วยเตี๋ยวหมูสับ
ข้อควรระวัง
- การสำลัก คนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก หรือมีภาวะสำลักเงียบ หรือ นอนรพ.บ่อยด้วยโรคปอดติดเชื้อ มีความเสี่ยงต่อการสำลักสูง ควรได้รับการประเมินและดูแลโดยนักกิจกรรม และแพทย์เวชศาตร์ฟื้นฟู
- การขาดสารอาหาร ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่ครบถ้วน
- การเปลี่ยนแปลงของภาวะ อาการของคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ควรปรับเปลี่ยนชนิดอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน
- เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการไอ หรือสำลัก เช่น ของกรอบ ของทอด หรือ ถั่วที่ย่อยยาก และอาจทำให้ท้องอืด
ทั้งนี้การเลือกวิธีการปรุงอาหารที่ทำให้เนื้ออาหารนิ่ม เช่น นึ่ง ต้ม หรืออบ หลีกเลี่ยงการทอดหรือผัด และมีความมันมาก และควรระวังการใช้เครื่องปรุงรสที่มีรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม ที่มากเกินไป อาจทำให้ระคายเคืองคอ หากคุณมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับคนฝึกกลืนหรือผู้ที่มีปัญหากลืนลำบาก สามารถปรึกษา และสอบถามออนไลน์ได้ในแบบฟอร์มของรพ.นะคะ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู