การออกกำลังกาย และการฝึกบริหารร่างกายหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ศูนย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

บทความโดย : พญ. พรพรรณ พานเพียรศิลป์

การฝึกบริหารร่างกายหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

การออกกำลังการและการฝึกบริหารร่างกายหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการปรับตัวในเรื่องของการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย เนื่องจากขนาดของกระเพาะอาหารที่มีขนาดเล็กลงหลังการผ่าตัด ซึ่งการบริหารร่างกายหลังการผ่าตัดกระเพาะจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยหลังจากการผ่าตัดสามารถออกกำลังกายได้ ต้องเป็นท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสม โดยวันนี้แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะมาแนะนำท่าบริหารร่างกายที่ถูกต้อง


การฝึกบริหารร่างกายในช่วง 1-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ช่วงก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกหายใจช้า ๆ การผ่อนลมหายใจ การฝึกกระบังลม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดหลังผ่าตัด เช่น การบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการฝึกหายใจลึก การฝึกขยายปอดให้ถูกต้อง การฝึกการหายใจเข้าลึกเต็มที่ ฝึกไอหรือการกระแอมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

หลังผ่าตัดในช่วง 1-4 สัปดาห์ จะต้องระวังหรือเลี่ยงการออกแรงยกของหนักๆ หรือออกแรงเบ่ง หรือแม้กระทั่งการออกแรงยืดในบริเวณที่ผ่าตัด เพื่อไม่ให้เกิดแผลปริ หรือเกิดรอยแยก รวมไปถึงต้องลดเรื่องของแรงสั่นสะเทือน แรงกระแทก และแรงต้านต่างๆ การออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้น สามารถเริ่มได้จากการเดินช้าๆ หรือเดินเร็ว การปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือการออกกำลังกายโดยไม่ใช้แรงต้าน ยกน้ำหนัก ร่วมกับการฝึกหายใจในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

สำหรับท่าออกกำลังกายในช่วง 1 เดือนหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้แก่

  • ท่าที่ 1 นั่งเตะเข่าเหยียดออกไปทางด้านหน้า ทำข้างละ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 2 หมุนหัวไหล่ไปทางด้านหน้า จากนั้นหมุนไปทางด้านหลัง ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 3 ยกแขนขึ้นไปทางด้านหน้าเหนือศีรษะ จากนั้นเอาแขนลง ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 4 กางแขนตั้งฉาก 90 องศา กับพื้น จากนั้น ชกแขนขึ้นไปทางด้านบนเหนือศีรษะ ทำสลับซ้ายและขวาไปมา ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 5 ยืนเกาะเก้าอี้ จากนั้นเขย่งเท้าทั้ง 2 ข้างขึ้น แล้วเอาลง ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 6 ยืนเกาะเก้าอี้ ลำตัวตั้งตรง จากนั้นเตะขาออกไปทางด้านข้าง แล้วกลับที่เดิม ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 7 ยืนเกาะเก้าอี้ แล้วย่อเข่าหย่อนสะโพกลงช้าๆ แล้วยืนขึ้น ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง

> กลับสารบัญ


การฝึกบริหารร่างกายในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ช่วงนี้สามารถออกแรงได้มากขึ้น เดินได้เร็วขึ้น หรือปั่นจักรยานได้เร็วขึ้น (หลังผ่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน) รวมทั้งทำท่ากายบริหารในน้ำได้ แต่ยังไม่สามารถออกกำลังกายในท่าที่มีแรงกระแทกหรือแรงต้านได้ เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิค ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก เพราะว่าจะมีผลต่อแผลผ่าตัด โดยท่าออกกำลังกายจะเน้นส่วนของการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากขึ้น และต้องยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย ประมาณ 5-10 นาที

สำหรับท่าออกกำลังกาย ในช่วง 4-6 สัปดาห์ หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้แก่

  • ท่าที่ 1 ใช้มือซ้าย เอื้อมไปแตะหัวไหล่ขวา จากนั้นใช้มือขวาจับศอก แล้วดึงยืด ให้ตึงบริเวณสะบัก ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง ทำสลับทั้ง 2 ข้าง
  • ท่าที่ 2 ยกแขนประสานกันเหนือศีรษะ จากนั้นเอียงตัวไปทางด้านข้าง ซ้ายและขวา สลับกัน ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง ทำสลับทั้ง 2 ข้าง
  • ท่าที่ 3 ยกเข่าขึ้นไปทางด้านหน้า พร้อมใช้มือกอดเข่าค้างไว้ 10-15 วินาที ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง
  • ท่าที่ 4 ยืนงอเข่าไปทางด้านหลัง จากนั้นใช้มือจับที่บริเวณข้อเท้า เพื่อยืดต้นขาทางด้านหน้า ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำทั้งหมด 2-3 เซต เซตละ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การฝึกบริหารร่างกายในช่วง 6 สัปดาห์ขึ้นไปหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

หลัง 6 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายได้ทุกรูปแบบตามความถนัดและความชอบ ซึ่งจะแนะนำการออกกำลังกายทั้งแบบคาดิโอ (Cardio) หรือการเวทเทรนนิ่ง (weight training) โดยเวทเทรนนิ่งจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยกระชับสัดส่วน และเป็นการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกายได้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคาร์ดิโอ จะเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เกี่ยวข้องกับการดึงไขมันในร่างกายมาใช้ได้ดีขึ้น

สำหรับท่าออกกำลังกายในช่วง 6 สัปดาห์ขึ้นไปหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้แก่

  • ท่าที่ 1 Marching ย่ำเท้าอยู่กับที่อย่างต่อเนื่องทำ 10-20 ครั้ง
  • ท่าที่ 2 Marching with arm press ย่ำเท้า แล้วหุบแขนไปทางด้านหน้าจากนั้นกางแขนออก สลับกัน ทำทั้งหมด 10-20 ครั้งค่ะ
  • ท่าที่ 3 Knee bend with arm curl ก้าวขาไปทางด้านหน้า แล้วย่อเข่าพร้อมงอศอกทั้ง 2 ข้าง จากนั้น ก้าวขากลับมาที่เดิม ทำสลับกันซ้ายและขวา ทำทั้งหมด 10-20 ครั้งค่ะ
  • ท่าที่ 4 Box step with arm punching ย่ำเท้าก้าวไปทางด้านหน้าทีละข้าง พร้อมกับชกแขนออกไปทีละข้าง จากนั้น ก้าวเท้ากลับ ทำวนไปอย่างต่อเนื่อง 10-20 ครั้ง
  • ท่าที่ 5 High knee with arm lift เริ่มจากยืนยกแขนทั้ง 2 ข้าง จากนั้น ดึงแขนลงมาทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับยกเข่าขึ้นทีละข้าง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ทำทั้งหมด 10-20 ครั้ง

> กลับสารบัญ



ข้อแนะนำ

สำหรับท่าออกกำลังกายเหล่านี้ ควรทำต่อเนื่องเป็นเวลา 30-80 นาทีต่อวัน โดยทำ 3-5 วัน ต่อสัปดาห์ ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย อาจจะเริ่มจาก 30 นาทีก่อน หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว อาจจะเริ่มจาก 45-50 นาที แต่ไม่ควรเกิน 80 นาทีต่อวัน

ในขณะที่ออกกำลังกาย หรือหลังออกกำลังกาย หากมีอาการปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ท้องแน่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ มึนหัว หรือวิงเวียน หน้ามืด เป็นตะคริว หรือมีอาการปวดรุนแรงบริเวณใดก็ตาม ถ้าพบอาการผิดปกติเหล่านี้ ให้หยุดพัก หากอาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ทุเลา ให้รีบมาพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาทันที

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้ เพื่อให้การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน ควรจะฝึกนิสัยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จนติดเป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่กลับมาเป็นโรคอ้วนซ้ำอีกครั้ง หากสงสัยสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย