6 Minute Walk Test ตรวจสมรรถภาพปอดด้วยการเดิน
ศูนย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
บทความโดย : พญ. พรหทัย งามวงศ์สงวน
เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอดโดยตรง ทำให้เกิดปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย ไอแห้ง หรือมีเสมหะร่วมด้วย นอกจากนี้ หลังเข้ารับการรักษาโควิดและหายจากการติดเชื้อแล้ว ยังอาจมีรอยโรคหรือแผลเป็นในเนื้อปอดอยู่ รวมถึงบางรายอาจรู้สึกร่างกายไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาวะลองโควิด (Long COVID)
ในปัจจุบัน มีการให้บริการตรวจประเมินและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดมากขึ้น วิธีการตรวจประเมินซึ่งทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และเป็นที่นิยมอย่างหนึ่ง คือการทดสอบการเดิน 6 นาที (6 Minute Walk Test: 6MWT)
รู้จัก 6 Minute Walk Test
6 Minute Walk Test (6MWT) คือ การทดสอบสมรรถภาพทางกายด้วยการเดินให้ได้ระยะทางมากที่สุดในเวลา 6 นาที โดยไม่ใช่การวิ่ง แล้วบันทึกระยะทางที่ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นวิธีการตรวจประเมินภาพรวมของระบบปอดและการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด
การทดสอบ 6 Minute Walk Test ใช้ในการทดสอบผู้ป่วยโรคปอด และ/หรือ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดบางราย เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ใช้ในการวัดระดับสมรรถภาพทางกาย (functional status) ของผู้ป่วย
- ใช้ติดตามผลการรักษา หรือประเมินการตอบสนองต่อการรักษา
- ใช้ในการพยากรณ์โรคปอด/หัวใจบางชนิด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการทดสอบ 6 Minute Walk Test
การแก้ไขปัญหาถุงใต้ตาจะขึ้นกับปัญหาของแต่ละบุคคล สามารถทำได้ดังนี้
- มีอาการแน่นหน้าอกขณะพัก (โรคหัวใจชนิด Unstable Angina) หรือ มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตายในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
- ชีพจรขณะพัก มากกว่า 120 ครั้ง/นาที*
- ความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) มากกว่า 180 มิลลิเมตรปรอท*
- ความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) มากกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท*
* เป็นข้อควรระวัง กรณีดังกล่าว ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนการส่งตรวจถึงความจำเป็นและความเสี่ยงในการเข้ารับการตรวจทุกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทดสอบ 6 Minute Walk Test
- สวมเสื้อผ้าที่รู้สึกสบาย และรองเท้าที่เหมาะสม ไม่ลื่นหรือหลุดง่าย
- เตรียมอุปกรณ์ช่วยเดินที่ใช้เป็นประจำมาด้วย เช่น ไม้เท้า หรือวอล์คเกอร์
- รับประทานยาประจำตามปกติ เว้นแต่แพทย์กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลง
- สามารถรับประทานอาหารมื้อเบาๆ เว้นระยะเวลาจากการตรวจพอสมควร
- งดการออกกำลังกายหนักในระยะ 2 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ และไม่ต้องอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มการทดสอบ
- แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบหากมีการใช้ออกซิเจนเป็นประจำที่บ้าน
ขั้นตอนในการทดสอบ
- นั่งในเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้ วัดสัญญาณชีพ ค่าออกซิเจนในเลือด ระดับความรู้สึกเหนื่อย และรับการซักถามประวัติโดยเจ้าหน้าที่
- รับคำแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติในการทดสอบ โดยทั่วไปมีรายละเอียดคือ
- เดินไป-กลับอ้อมกรวย 2 อัน โดยเดินให้เร็วที่สุดและไกลที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ใช่การวิ่งภายในระยะเวลา 6 นาที
- ในขณะที่ทำการทดสอบ จะมีการบอกเวลาทุกๆ 1 นาที
- หากรู้สึกเหนื่อยหอบหรือหมดแรงระหว่างการทดสอบ สามารถเดินช้าลง หยุด หรือนั่งพักได้ แต่จะไม่ทำการหยุดเวลาให้ ถ้าอาการเหนื่อยดีขึ้นแล้วและยังไม่หมดเวลาทดสอบ ให้เดินต่อไปได้จนหมดเวลา
- ไม่พูดคุยขณะเดิน
- เมื่อทดสอบครบ 6 นาทีแล้ว ให้นั่งลงเพื่อรับการวัดสัญญาณชีพ ค่าออกซิเจนในเลือด ระดับความรู้สึกเหนื่อย และวัดซ้ำอีกครั้งในอีก 3 นาทีถัดมา
- อาจให้นั่งพักและวัดสัญญาณชีพซ้ำอีก หากอัตราการเต้นของหัวใจ และ/หรือความดันโลหิตยังสูงมาก
- ระยะทางที่เดินได้จะถูกบันทึกและนำไปประมวลผลต่อไป
โดยสรุปแล้ว การทดสอบ 6 Minute Walk Test เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ทดสอบสมรรถภาพ และติดตามผลการรักษาฟื้นฟูได้ในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ป่วยหลังหายจากการติดเชื้อ COVID-19 โดยควรได้รับคำแนะนำและการประเมินจากแพทย์ก่อนเข้ารับการทดสอบ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู