‘มะเร็งรังไข่’ มะเร็งในสตรีที่สาว ๆ ไม่ควรชะล่าใจ
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งในสตรี หลายคนคงนึกถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเต้านม ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ แต่นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่ได้พบบ่อยเช่นกัน แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งก็คือ “มะเร็งรังไข่” แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ดังนั้นคุณสุภาพสตรีทั้งหลายจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็คอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งรังไข่ ส่วนอาการบ่งชี้จะมีอะไรบ้าง ไปเช็คกันได้เลย
มะเร็งรังไข่ คืออะไร
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในสตรีไทย ในช่วงชีวิตของสตรีทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงทางประวัติครอบครัวจะเป็นร้อยละ 1.4 หรือ หมายถึง ในสตรี 70 คนจะพบคนเป็นมะเร็งรังไข่ 1 คน หากมีความเสี่ยงเช่น มีกรรมพันธุ์ผิดปกติความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น
มะเร็งรังไข่เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพันธุกรรม (gene) ที่พบว่ามีมีความเกี่ยวข้อง และเพิ่มความเสี่ยงชัดเจนคือ
- กลุ่มยีน BRCA1/BRCA2 ทำให้เกิดกลุ่มโรคมะเร็งรังไข่ และหรือ มะเร็งเต้านม เช่น สตรีที่มียีน BRCA 1 ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 40-60
- กลุ่มยีน Lynch syndrome ทำให้เกิดมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธ์ เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ
- โดยในคนกลุ่มนี้มักจะมีคนในครอบครัว เป็นมะเร็งดังกล่าว
- แต่ในปัจจุบันในเคสมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักมีการตรวจความเสี่ยงทางพันธุกรรม เพื่อนำไปสู่การตรวจติดตามคนในครอบครัว และมีผลต่อการเลือกยารักษา
- มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ร่วมด้วย
- เคยได้รับการฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน
อาการบ่งชี้ มะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่แตกต่างจากมะเร็งอย่างอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ที่จะมีอาการแสดงนำมาก่อนเช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ซึ่งจะนำคนไข้มาพบแพทย์ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ หรือ อาการไม่ชัดเจน เช่น อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง อิ่มง่ายหรืออิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุด ได้แก่ อาการท้องอืดโตขึ้น เนื่องจากมีน้ำในท้องหรือก้อนมีขนาดใหญ่มากจนกดเบียดอวัยวะอื่นๆในท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคที่แพร่กระจายแล้ว (ระยะ 3-4) ผู้ป่วยที่พบในระยะแรกๆ (ระยะ 1-2) มักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการอัลตราซาวด์ด้วยสาเหตุอื่นๆ จึงบังเอิญพบเนื้องอกรังไข่
หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจเพื่อเติม
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปัสสาวะบ่อย
- อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ
- รู้สึกเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
- รู้สึกปวดท้องหรือปวดในอุ้งเชิงกราน
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
- ู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร
การวินิจฉัยมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่มีทั้งหมด 4 ระยะ โดยปกติการกำหนดระยะมักต้องใช้การผ่าตัด และเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อระบุชนิดเซลล์ แต่ก่อนที่จะผ่าตัดจะมีการตรวจเพื่อวางแผนการรักษา ดังนี้
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การตรวจภายในหรือทางทวารหนัก ตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
- การตรวจอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อน
- การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ CA-125 (cancer antigen 125) และ HE4 (human epididymal protein 4) ร่วมกับอัลตราซาวด์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ แต่ความไวของการตรวจยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นวิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน
- ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography: CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) ช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา
- การส่องกล้องแลปพาโรสโคป (laparoscope) ใช้ในการตรวจหาเนื้อเยื่อข้างในอุ้งเชิงกรานและเก็บตัวอย่างของเนื้องอกเพื่อนำไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา
การรักษาหลักมักเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด แต่หากพบว่าเป็นระยะแพร่กระจายแพทย์อาจเริ่มด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนแล้วตามด้วยการผ่าตัด
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่
การรักษามะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย และความต้องการมีบุตร
- การผ่าตัด ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดมดลูก และรังไข่ทั้ง2 ข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้องตามตำแหน่งที่มะเร็งมักแพร่กระจายไป หรือเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด แต่หากผู้ป่วยอายุน้อยและยังต้องการมีบุตร สามาถทำได้ในมะเร็งระยะแรกและในเซลล์บางชนิด โดยเหลือมดลูกและรังไข่ข้างที่ปกติไว้
- การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ใช้ในระยะเริ่มต้นที่มีเซลล์ชนิดร้ายแรง, ระยะท้าย และในกรณีมะเร็งกลับเป็นซ้ำ
- การใช้รังสีรักษา (มีการใช้รักษาแต่น้อยในมะเร็งรังไข่) เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง การใช้รังสีอาจเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายและฉายตรงเข้าสู่ร่างกาย และใช้เป็นเฉพาะจุด
- การให้ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด ในมะเร็งรังไข่มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
ทั้งนี้ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ชนิดของเซลล์ ลักษณะกรรมพันธุ์
หากคุณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนจะสายเกินไป เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษา ถึงแม้ว่ามะเร็งรังไข่เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก แต่การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยคัดกรองความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นให้เราได้โดยไม่ต้องรอให้โรคเกิดการลุกลามและแสดงอาการ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี