“เนื้องอกในมดลูก” โรคยอดฮิตของผู้หญิงทุกวัย

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

“เนื้องอกในมดลูก” โรคยอดฮิตของผู้หญิงทุกวัย

เนื้องอกในมดลูก อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 25 ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก โดยมีขนาดต่างกันไป อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว แต่ที่น่าเป็นกังวลคือผู้หญิงหลายคนมักไม่รู้ว่าตัวเอง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกจะไม่มีอาการแสดงใดๆ บอกชัดเจน มักทราบโดยบังเอิญจากการที่ตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาปรึกษาแพทย์ด้วยโรคอื่นๆ


เนื้องอกมดลูก มีกี่ประเภท?

เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกที่เป็นเนื้องอกธรรมดามากกว่า ซึ่งมีเนื้องอก 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

  • เกิดจากกล้ามเนื้อโดยตรง หรือเกิดจากมีเนื้ออย่างอื่นแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อของมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แทรกเข้ามาในมดลูก หรือมีหลายเม็ดเกาะกันเป็นกลุ่มจนใหญ่ขึ้น

> กลับสารบัญ


สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกในมดลูก

ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้นยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคใดๆ แต่ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ และพบว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งสร้างในรังไข่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงมีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง และเนื้องอกมักจะฝ่อตัวเล็กลงหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยตัวเนื้องอกนี้มักเจอในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คือ มีประจำเดือนไปสัก 3 ปี 5 ปี 10 ปี แล้วเริ่มตรวจเจอว่ามีเนื้องอกมดลูก

> กลับสารบัญ


ประจำเดือนมามากผิดปกติ สัญญาณเนื้องอกในมดลูก

ประจำเดือนมามากผิดปกติ คือ อาการบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนเนื้องอกในมดลูก เนื้องอกมดลูกนั้นอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานขึ้น มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมา อาจจะมีอาการปวดท้องน้อยที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่ปวดก็ได้ หรือในบางกรณีมีอาการปวดท้องน้อยคล้ายเหมือนมีประจำเดือน แต่กลับไม่มีประจำเดือน

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

อาการที่อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก

อาการของเนื้องอกในมดลูกขึ้นกับความรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย แต่เมื่อตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์กลับพบเนื้องอก และนอกจากอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้

  1. ปวดท้องน้อย มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอก เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกไม่พอ ทำให้เนื้องอกขาดเลือด หรือปวดท้องน้อยเพราะเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะอื่นๆ จนทำให้เกิดการปวดแบบหน่วงๆ เหมือนมีก้อนหนักๆ ในท้อง
  2. ปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  3. ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก
  4. ปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
  5. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  6. คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย
  7. การมีบุตรยากและแท้งบุตร จะตรวจพบเมื่อคนไข้ไปตรวจกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก พออัลตราซาวด์ถึงจะเจอ อันนี้มักจะเป็นลักษณะก้อนเล็กๆ ไม่มีอาการอะไร บางทีอาจจะมีก้อนแค่ 1-2 เซนติเมตรอยู่ในโพรงมดลูก ไปขวางการฝังตัวของทารกทำให้มีบุตรยาก โดยเนื้องอกในมดลูก ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ เนื่องจาก
    • ตัวก้อนกดเบียดทำให้อสุจิเคลื่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ลำ
    • ตัวก้อนกดเบียดบริเวณท่อนำไข่ ทำให้มีผลต่อการปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจิ รวมทั้งการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก
    • เนื้องอกขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณในโพรงมดลูก
    • เนื้องอกที่มดลูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูก มีผลต่อการฝังตัวและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน

เนื้องอกในมดลูก อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ เช่น การเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด ไม่สามารถคลอดลูกแบบธรรมชาติเองได้แต่จะต้องผ่าคลอด หรือหากเนื้องอกดันเข้าไปในโพรงมดลูกมาก ก็อาจส่งผลทำให้แท้งลูกในท้องได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของก้อน ตำแหน่งของก้อน จำนวนก้อนเนื้องอกมดลูก

> กลับสารบัญ


ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในมดลูก

เมื่อผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยมีอาการที่อาจสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูก แพทย์จะทำการซักประวัติ และสอบถามถึงอาการต่างๆ พร้อมกับทำการตรวจภายใน การตรวจด้วยการคลำ และทำอัลตราซาวด์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การตรวจอัลตราซาวด์แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 1.การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะให้คนไข้ดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนในกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ เพื่อให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น และ 2.การตรวจโดยผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด คนไข้อาจจะต้องนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันชิดหน้าอก หรือนอนบนขาหยั่ง ซึ่งแพทย์จะสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจน

> กลับสารบัญ


การรักษาเนื้องอกมดลูก

การรักษาเนื้องอกมดลูกสามารทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของเนื้องอก และปัจจัยโดยรวมของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการในการมีบุตร การตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่

  1. วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องคล้ายคลึงกับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง โดยเปิดแผลบริเวณหน้าท้องในแนวขวาง เวลาผ่าตัดจะสามารถเห็นได้ว่าท่อไตอยู่ตรงไหน เนื้องอกอยู่ตรงไหนจึงสามารถแยกได้อย่างชัดเจนทำให้การผ่าตัดค่อนข้างปลอดภัย และสามารถเก็บมดลูกไว้ใช้งานได้ปกติ
  2. วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกในมดลูก ได้รับความนิยมและมีข้อดีในหลายๆ ด้าน คือ แผลมีขนาดเล็ก คนไข้เสียเลือดน้อย เจ็บตัวน้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

> กลับสารบัญ



การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องโดยการเจาะผ่านช่องท้อง 3-4 จุด แต่ละแผลมีขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออกจากตัวมดลุก และมีการย่อยชิ้นเนื้อเพื่อนำออกมาผ่านทางแผลขนาดเล็ก หรือในบางกรณีอาจมีขนาดกว้างขึ้นเป็น 3-4 เซนติเมต

> กลับสารบัญ


ข้อดีของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง

  • แผลผ่าตัดเล็ก ขนาดประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ประมาณ 3-4 แผล
  • เสียเลือดน้อย
  • เจ็บแผลน้อยมาก เนื่องจากความบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
  • พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน
  • ฟื้นตัวเร็ว สามรถลุกเดิน ทานอาหารได้ในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด และสามารถกลับไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ภายใน 10-14 วัน
  • ลดโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัด
  • ลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัด เช่น แผลอักเสบ แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง เนื่องจากแผลผ่าตัดส่องกล้องมีขนาดเล็ก
  • อัตราการตั้งครรภ์หลังผ่าตัดส่องกล้องไม่แตกต่างจากการผ่าแบบเปิดหน้าท้อง
  • สามารถเลาะจำนวนก้อน และอัตราการเกิดเนื้องอกใหม่ หรือ การกลับเป็นซ้ำ ไม่แตกต่างจากการผ่าแบบเปิดหน้าท้อง

> กลับสารบัญ


ข้อจำกัดของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง

  • แม้ผลข้างเคียงในการผ่าตัดน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่า แต่ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าแบบเปิดหน้าท้อง
  • ควรเป็นแพทย์ที่ชำนาญการผ่าตัด และการเย็บผ่านกล้อง
  • มีโอกาสเปลี่ยนเป็นแบบเปิดหน้าท้อง หากมีภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด
  • เนื้องอกที่พบในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน อาจต้องแยกโรคอื่นที่มักพบร่วม เช่น มะเร็งมดลูก โดยรอบคอบก่อนทำการผ่าตัดผ่านกล้อง

> กลับสารบัญ


เพราะเนื้องอกมดลูก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มากที่สุด การป้องกันเนื้องอกมดลูกได้ดี คือการหมั่นตรวจภายในเป็นประจำทุกปี รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ และเมื่อพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที



พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/มะเร็งวิทยานรีเวช
ศูนย์สุขภาพสตรี

นัดหมายแพทย์

ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย