ศูนย์มะเร็ง
ศูนย์มะเร็ง รพ.นครธน
ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลนครธน ให้การดูแลรักษามะเร็ง โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชา ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญการด้านมะเร็ง พร้อมให้บริการตั้งแต่ การป้องกัน การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษามะเร็ง การติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงการดูแลด้านสภาวะจิตใจ โภชนาการ การจัดการกับความเจ็บปวด และการเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำของโรคอย่างใกล้ชิด
มะเร็งพบบ่อยในประเทศไทย
- มะเร็งตับ (Liver Cancer) อาการส่วนใหญ่ที่มักพบ ได้แก่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ เจ็บชายโครงขวา คลำก้อนได้ที่ชายโครงขวา ในช่วงท้ายอาจมีไข้เรื้อรัง ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือบางรายมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นตับแข็ง เช่น ขาบวม ท้องบวม เส้นเลือดโป่งพอง
- มะเร็งปอด (Trachea Bronchus and Lung cancer) ในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจนไปกดหลอดลมหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นจึงจะแสดงอาการ ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หน้าบวม แขนบวม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer) อาการส่วนใหญ่ที่มักพบ ได้แก่ คลำเจอก้อนในเต้านม มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเลือดจะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งยิ่งขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะคล้ายผิวส้ม หรือมีรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือเต้านมผิดรูปร่างไปจากเดิม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (Colorectal Cancer) อาการที่พบได้แก่ ปวดท้อง แน่นท้อง คล้ายโรคกระเพาะ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะการขับถ่ายอาจเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากลำไส้อุดตัน เช่น ถ่ายอุจจาระปนเลือด มีภาวะซีด อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายสีของเลือดหมู อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด เป็นต้น
- มะเร็งปากมดลูก (Uterine Cancer) อาการที่พบได้แก่ มีระดูขาวมากผิดปกติ มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกกระปริดกระปรอย เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมานานขึ้น หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) อาการที่พบได้แก่ ถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง แสบ และเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะถี่ ในบางรายอาจมีเลือดปนออกมาด้วย
- มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ หรือ อาการไม่ชัดเจน เช่น อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง อิ่มง่ายหรืออิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุด ได้แก่ อาการท้องอืดโตขึ้น เนื่องจากมีน้ำในท้องหรือก้อนมีขนาดใหญ่มากจนกดเบียดอวัยวะอื่นๆในท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคที่แพร่กระจายแล้ว (ระยะ 3-4)
"เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา"
การป้องกัน (Prevention) ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
พันธุกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้น การตรวจหาการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล เพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคมะเร็งให้รับรู้ ตระหนัก เฝ้าระวัง โอกาสที่อาจเกิดขึ้น โดยให้คำแนะนำแนวทางในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในอนาคตแบบเฉพาะบุคคล เช่น โปรแกรมการติดตามเฉพาะบุคคล การผ่าตัดอวัยวะที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกัน การเกิดมะเร็งในอนาคต เป็นต้น
การตรวจคัดกรองมะเร็ง (Screening)
ด้วยนวัตกรรม เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยทำให้ค้นพบโรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง มีประวัติสูบบุหรี่ เป็นต้น เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที อาทิ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย Low dose CT
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย Pap smear, HPV DNA Testing
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
- การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการเจาะเลือด และอัลตราซาวด์ หรือ MRI เพิ่มหากผลเลือดผิดปกติ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยการเจาะเลือด และอัลตราซาวด์
การรักษามะเร็ง (Diagnosis & Treatment)
การวินิจฉัยโรคมะเร็งได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา ทำให้รักษามะเร็งได้อย่างแม่นยำ และได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี การรู้ระยะของโรค ด้วยการตรวจเอกซเรย์พิเศษ PET-CT จะช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยว่าชิ้นเนื้อนั้นมีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อต้องอาศัยความชำนาญขั้นสูงเพื่อความแม่นยำ และการตรวจเชิงลึกถึงระดับ Molecular นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบการตรวจหาการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจากชิ้นเนื้อมะเร็ง และ/หรือจากเลือด ที่จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิผล และเหมาะสมในแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น
การรักษามะเร็งนั้นค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องผสมผสานหลายวิธีเข้าด้วยกัน ทางโรงพยาบาลนครธนจึงมีบริการ การประชุม Tumor Board ด้วยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง เช่น อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้อง lab และเภสัชกร เพื่อหาวิธีการรักษาร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อวางแผนและตัดสินใจเลือกแผนการรักษาที่เฉพาะเจาะจงและให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ทางเลือกในการรักษามะเร็ง
การรักษามะเร็งในปัจจุบันมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของโรค อาทิ
- ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) เป็นยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในหลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้และตายในที่สุด
- การฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง (Radiotherapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้นๆ ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของพันธุกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง
- ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สามารถควบคุมมะเร็งได้ยาวนานกว่า และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy)
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นยารักษามะเร็งโดยเข้าไปยับยั้งกระบวนการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราเองเข้าไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) เป็นการรักษามะเร็งโดยการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากแหล่งกำเนิด คือ ไขกระดูก เลือด และเลือดจากสายสะดือรก ทั้งของผู้อื่น หรือของตนเองที่เก็บไว้มาใช้ในการรักษามะเร็ง
- การผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่อยู่เฉพาะที่ ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงอื่นหรือไม่อยู่ระยะแพร่กระจาย ซึ่งจะสามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้เทคนิคการผ่าตัดยังมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกโดยไม่ทำให้อวัยวะเสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้นไปได้ เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า และยังมีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ส่งผลกระทบน้อย เช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นต้น
การดูแลและติดตามผลการรักษา (Follow up)
มีการติดตามและเฝ้าระวังเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ทำการรักษาจนครบแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยทีมบุคลากรเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง แพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง นักโภชนาการ พยาบาลเฉพาะทางที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยลดความทรมาน เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เวลาทำการ
เปิดบริการทุกวัน จันทร์-อังคาร, พฤหัสบดี-อาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. และ พุธ เวลา เวลา 08.00 – 12.00 น.
สถานที่ตั้ง
ศูนย์มะเร็ง ชั้น 1 (ด้านในศูนย์อายุรกรรม)
นัดหมายและติดต่อสอบถามรายละเอียด
โทร. 0-2450-9999 ต่อ 1233