บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
" บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ.... พร้อมดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง "
ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่มีความเสื่อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของความเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและแตกต่างจากวัยอื่นๆ เป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับยา และเข้ารับการรักษาตามอาการเจ็บป่วย แต่ด้วยอวัยวะต่างๆ ที่มีความเสื่อมถอยตามวัย จึงมีอาการแสดงของภาวะเจ็บป่วยที่ไม่ตรงไปตรงมา ประกอบกับมีโรคประจำตัวร่วมหลายระบบ ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรคด้วยแพทย์ทั่วไป ผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มการเจ็บป่วยได้ง่ายและเรื้อรัง
ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ
- ปัญหาการนอนไม่หลับ
- ปัญหาสมองเสื่อม ความทรงจำถดถอย
- ปัญหาการกลืน เบื่ออาหาร
- ปัญหากระดูกพรุน
- ปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัญหาภาวะหูตึง
- ปัญหาพลัดตก หกล้ม
- โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
หากพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการเหล่านี้คือสัญญาณปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการตรวจเช็คอย่างเร่งด่วนด้วยการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ
ตอบโจทย์การดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม
ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต การดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมควรจะมีแพทย์ประจำตัวที่มีความรู้ ความเข้าใจเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ เพื่อให้การรักษาฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดีตามวัยและพิจารณาส่งต่อการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ตามความเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องที่บ้าน ผู้ดูแลจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมทั้งกายและจิตใจ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เจาะลึกถึงปัญหาสุขภาพ ด้วยการบริการทางการแพทย์ของ บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ
บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลนครธน เข้าใจถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลทุกคนต้องเผชิญ จึงเปิดให้บริการ ดูแลรักษา ป้องกัน ฟื้นฟู กลุ่มผู้สูงอายุแบบองค์รวมตามมาตรฐานสากล (Holistic Care) โดยแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ (Geriatric Doctor) และทีมสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการดูแลผู้สูงอายุ ให้การประเมินผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติ กาย จิต สังคม และวิเคราะห์ปัญหาของผู้สูงอายุเป็นแบบรายบุคคล (Personalized care) ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อวางแผนการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และลดความรู้สึกเป็นภาระในผู้ดูแล (Caregiver burden) โดยมีกระบวนการดังนี้
1. พบพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ : ประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุเบื้องต้น เกี่ยวกับโรคทางคลินิกของผู้สูงอายุ (Geriatric Syndromes) โดยการใช้แบบประเมินการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ (Comprehensive Geriatric Assessment) ก่อนพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อค้นหาความเสี่ยงทางสุขภาพเบื้องต้น โดยประเมินด้านต่างๆ ดังนี้
- ความสามารถการดูแลตนเองในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงหกล้มในผู้สูงอายุ
- ความเสี่ยงภาวะโภชนาการในผุ้สูงอายุ
- ความเสี่ยงต่อความรู้สึกเป็นภาระการดูแลผู้สูงอายุในผู้ดูแล
2. พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ : แพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาและการดูแลผู้สูงอายุ ทำการประเมินและวิเคราะห์ปัญหาทางสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยการซักประวัติตรวจร่างกายประกอบกับผลการทดสอบต่างๆ เพื่อทำการวินิจฉัยเจาะปัญหาของผู้สูงอายุเชิงลึกในแต่ละด้าน และนำมาวางแผนโปรแกรมการดูแลรักษาเฉพาะรายบุคคล (Personalized care) ซึ่งจะพิจารณาเชิญทีมสหวิชาชีพด้านต่างๆ เข้ามาร่วมรับการรักษา ตามความเหมาะสมตามปัญหาของผู้สูงอายุดังนี้
- ปัญหาด้านยา พบเภสัชกร : ประเมินตรวจสอบกลุ่มยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการทำข้อมูลรายการยา (Medication Reconciliation) ที่มีการใช้ยาหลายชนิดในการรักษาแต่ละโรคซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือมีปฎิกิริยาต่อกันหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้สูงอายุ
- ปัญหาด้านอาหาร พบนักโภชนาการ : ประเมินภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ และให้คำแนะนำในการจัดอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุ
- ปัญหาด้านกล้ามเนื้อและการทรงตัว พบนักกายภาพบำบัด : ประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว เพื่อวิเคราะห์หาความเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ และออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมในผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล เพื่อรักษาฟื้นฟูทางด้านกายภาพของผู้สูงอายุ
- ปัญหาด้านประสาทสัมผัส ความคิดและการใช้ชีวิต พบนักกิจกรรมบำบัด : ประเมินและออกแบบกิจกรรมที่ช่วยบำบัด ฟื้นฟู พัฒนา และชะลอความเสื่อมตามวัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ
- การฝึกทักษะ และให้ปรึกษาในการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ปัญหาการใช้มือในการทำกิจวัตรประจำวัน, ปัญหาการกลืน และปัญหาจากโรคเส้นประสาทต่างๆ เป็นต้น
- การประเมินและบำบัด ในด้านความรู้ ความเข้าใจ และความจำในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม การจัดการพฤติกรรมและอารมณ์
- ปัญหาด้านช่องปาก พบทันตแพทย์ : ประเมินปัญหาสุขภาพช่องปากและให้การดูแลรักษาช่องปาก ตลอดจนการใส่ฟันปลอม ซึ่งมีผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารกับผู้สูงอายุตามมา
วิดีโอที่เกี่ยวข้อง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เวลาทำการ
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.00 – 14.00 น. / วันเสาร์ เวลา 07.00 – 17.00 น. / วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 15.00 น.
สถานที่ตั้ง
บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ชั้น 10
นัดหมายและติดต่อสอบถามรายละเอียด
โทร. 0-2450-9999 ต่อ บริการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ